กรม สบส. ห่วงบ้านพักคนชรา ร่วม กทม. แนะระวังป้องกันไฟไหม้ด้วยมาตรฐานความปลอดภัย 7 ข้อ

พิมพ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
อ่าน: 1475

กรม สบส. ห่วงบ้านพักคนชรา ร่วม กทม. แนะระวังป้องกันไฟไหม้ด้วยมาตรฐานความปลอดภัย 7 ข้อ

สุระ173070AB-6314-7FBA-57BF-6D87B65A5265

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงไฟไหม้ในสถานประกอบการบ้านพักคนชรา จับมือกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ย้ำสถานประกอบการเข้มมาตรฐานความปลอดภัย 7 ข้อ ป้องกันเพลิงไหม้ ลดความสูญเสีย  

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) เปิดเผยว่า กรม สบส. มีภารกิจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าบ้านพักคนชรา ให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 โดยสถานประกอบการต้องผ่านการประเมินมาตรฐานครบทั้ง 3 ด้าน คือ มาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการ จึงจะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ซึ่งหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตฯแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. ได้มีการกระจายทีมลงเฝ้าระวังทั่วประเทศ เพื่อให้สถานประกอบการคงไว้ซึ่งคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการคุ้มครองผู้สูงอายุให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับญาติ ปัจจุบันมีกิจการการดูแลผู้สูงอายุฯที่ได้รับอนุญาตแล้วทั่วประเทศ 724 แห่ง

อาคมF80A022B-E5C9-031C-06A4-19B1413C8233

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ผู้รับบริการในกิจการการดูแลผู้สูงอายุฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและบางรายมีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง เรื่องมาตรฐานจึงย่อหย่อนไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไปในสถานประกอบการจะต้องมีอุปกรณ์และคู่มือการปฐมพยาบาลที่พร้อมใช้งาน มีระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ มีการอบรมช่วยฟื้นคืนชีพ หากเป็นสถานประกอบการลักษณะที่จัดให้มีที่พำนักอาศัยหรือมีการพักค้างคืน จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ มีการติดสัญญาณเรียกฉุกเฉินหรือสัญญาณเตือนภัย และมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วย ที่สำคัญช่วงฤดูร้อนมักมีสภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศร้อนจัด เป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดเพลิงไหม้สูง สถานประกอบการทุกแห่งต้องเข้มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย เพื่อป้องกันและลดความสูญเสีย ประกอบด้วย

  1. มีการติดตั้งเครื่องดับเพลิงไว้ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน อย่างน้อย 1 เครื่อง/1 ชั้น
  2. มีระบบสัญญาณเตือนเหตุเพลิงไหม้
  3. มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างสำรองตามช่องทางเดินและเส้นทางหนีไฟ
  4. มีป้ายหรือข้อความเตือนในบริเวณที่มีความเสี่ยง
  5. มีการฝึกอบรมการป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้น ปีละหนึ่งครั้ง
  6. มีการฝึกซ้อมป้องกันและระงับอัคคีภัย และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ
  7. อุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่ชำรุด และไม่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย

ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรม สบส.ได้รับความร่วมมือจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ในการตรวจและให้คำแนะนำความปลอดภัยด้านอัคคีภัยแก่สถานประกอบการการดูแลผู้สูงอายุฯที่ได้รับใบอนุญาตจากกรม สบส. ปัจจุบัน
มีจำนวน 265 แห่ง

28C77ECA-1D6C-7261-6CB9-53C60C0EAE7A

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ความปลอดภัย