กรม สบส. ก้าวล้ำนำเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคาร และความเป็นจริงเสมือน มาใช้ในการจัดทำแบบก่อสร้างโรงพยาบาลภาครัฐ

พิมพ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
อ่าน: 1652

กรม สบส. ก้าวล้ำนำเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคาร และความเป็นจริงเสมือน มาใช้ในการจัดทำแบบก่อสร้างโรงพยาบาลภาครัฐ

tem25

20200520B1FB13A6-9CC4-0B8F-6E37-70F368B3C1E8

        กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นำเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) และความจริงเสมือน (VR) ออกแบบก่อสร้างอาคารสถานพยาบาลภาครัฐ เพื่อให้สามารถประเมินและปรับปรุงแบบอาคารตามมาตรฐานระบบบริการสุขภาพได้ตั้งแต่ก่อนก่อสร้างอาคาร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบ     ลดต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร เพื่อให้ได้แบบก่อสร้างที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน 

        นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน ควบคุม ดูแล อำนวยการและควบคุมคุณภาพการก่อสร้างอาคาร ให้อาคารสถานที่ของสถานบริการสุขภาพและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้คุณภาพมาตรฐาน     ซึ่งในการออกแบบอาคารสถานพยาบาลนั้น มีความซับซ้อน ต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ โดยวิธีดั้งเดิมของการจัดทำแบบอาคาร นั้นส่วนใหญ่เป็นภาพสองมิติ เช่น แปลน รูปด้าน รูปตัด อาจมีภาพสามมิติเพื่อการนำเสนอ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้ออกแบบและผู้ประเมินมาตรฐานบริการสุขภาพเสมือนเข้าไปอยู่ในอาคาร มองเห็นสภาพแวดล้อมในทุกมุมมองของอาคารแบบ 360 องศาได้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผนจึงได้มีการสร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการออกแบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling : BIM) ร่วมกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality : VR) การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ออกแบบและผู้ประเมินมาตรฐาน สามารถมองเห็นอาคารได้ในทุกมุมมองด้วยการใช้อุปกรณ์แว่น VR (VR Headset) ให้เสมือนเข้าไปอยู่ในอาคาร โดยสามารถเดินไปห้องต่างๆ ได้เหมือนเดินในอาคารจริง สามารถรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจริงของอาคาร เช่น ความกว้าง ความยาว ความสูงของอาคาร สามารถวัดขนาดพื้นที่ได้ เห็นสี ลักษณะพื้นผิวของวัสดุอาคาร ปริมาณแสงภายในอาคารในช่วงเวลาต่างๆ สามารถแก้ไขแบบอาคาร-ปรับเปลี่ยนวัสดุอาคารและสามารถแสดงผลลัพธ์ได้แบบ Real Time ด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นจะสนับสนุนให้สามารถประเมินคุณภาพแบบอาคารได้ถูกต้องแม่นยำ สามารถแก้ไขแบบอาคารให้ผ่านและดีกว่ามาตรฐานได้ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง และยังลดความเสี่ยงกับการสิ้นเปลืองงบประมาณในการแก้ไข ปรับปรุงอาคารในอนาคตได้อีกด้วย

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผน ได้ดำเนินการจัดทำแบบก่อสร้างโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพภาครัฐ โดยใช้กระบวนการแบบจำลองสารสนเทศ (BIM) และความจริงเสมือน (VR)  ในการจัดทำแบบก่อสร้างอาคารแยกโรคติดเชื้อต้นแบบ รวมทั้งได้จัดทำแนวทางการประเมินเพื่อปรับปรุงแบบก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพภาครัฐ ตามมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยี BIM และ VR เสร็จเรียบร้อยแล้ว

        ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพภาครัฐสนใจในองค์ความรู้ดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สายด่วนกรม สบส. 1426

*********** 18 กุมภาพันธ์  2564