กรม สบส.สั่งดำเนินคดี รพ.เอกชน โฆษณาจองวัคซีนโควิด 19

พิมพ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
อ่าน: 1123

กรม สบส.สั่งดำเนินคดี รพ.เอกชน โฆษณาจองวัคซีนโควิด 19

s__14975006

        กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สั่งดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง โฆษณาเปิดจองวัคซีนโควิด 19 โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายสถานพยาบาล หวั่นสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน
        นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยรัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ภายในปี พ.ศ.2564 เพื่อให้ประชาชนทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงอาจมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนได้ กรม สบส.ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.เฝ้าระวังการโฆษณา หรือประกาศที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงวันที่ 25 มีนาคม พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ถึงบริการรับจองฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จึงเร่งประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สมุทรสาครตรวจสอบข้อมูลฯ โดยจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ไม่ได้มีการขออนุมัติโฆษณาจากผู้อนุญาต และการโฆษณาให้เข้าใจผิด ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ประสานงานกับ สสจ.สมุทรสาคร แจ้งให้โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวระงับการโฆษณาแล้วในวันที่ 27 มีนาคม พร้อมกับนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี พิจารณาและดำเนินการทางกฏหมายต่อไป
        ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล” อย่างเคร่งครัด โดยประกาศฯกำหนดให้การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาล จะต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาต คือ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ซึ่งการกำหนดให้ต้องขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลก่อนการเผยแพร่นั้นก็ถือว่าประโยชน์กับทั้งประชาชน และสถานพยาบาล หากโฆษณาผ่านการอนุมัติแล้วประชาชนก็จะมีความมั่นใจในการบริการของสถานพยาบาลว่ามิได้มีการโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง และสถานพยาบาลเองก็วางใจได้ว่าการโฆษณาหรือประกาศของตนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดปัญหาการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง วัคซีนเป็นยา โฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงายคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้ทาง อย.ก็มีคำสั่งให้ระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติยาแล้วเช่นเดียวกัน ส่วนการโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ขออนุมัตินั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา
        ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ของสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ทางสายด่วน กรม สบส. 1426 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็แจ้งได้ที่ สสจ.ในพื้นที่