พิมพ์
บทความ
อ่าน: 36047

อาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

vle

ประวัติความเป็นมา กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาสาธารณสุข จึงได้นำเอาการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นกลวิธีหลักในการพัฒนา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524) เป็นต้นมา โดยสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง ซึ่งมีตัวจักรสำคัญในการดำเนินงานคือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  ต่อมาในปี 2535 ได้มีการยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขให้มีเพียงระดับเดียวคือ อสม. ที่ต่างก็เสียสละแรงกายแรงใจ เวลาและทุนทรัพย์ในการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถพึ่งตนเองได้ และวันที่ 21 ธันวาคม 2536 คณะรัฐมนตรี ก็ได้มีมติอนุมัติให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ"

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมายถึง บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้านและได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change agents) การสื่อข่าวสารสาธารณสุข การแนะนำเผยแพร่ความรู้ การวางแผน และประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น โดยใช้ยาและเวชภัณฑ์ตามขอบเขตที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการการฟื้นฟูสภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือบทบาท 6 ประการของ อสม. คือ แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี

คุณสมบัติของ อสม.  

จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่เป็นการประจำในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประสงค์จะเป็น อสม. ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ อสม. จะมีวาระคราวละ 4 ปี เมื่อครบวาระแล้วให้พิจารณาต่อบัตรประจำตัว โดยดูจากผลการดำเนินงาน ร่วมกับการพิจารณาของประชาชนและองค์กรของหมู่บ้าน

การคัดเลือก อสม.  ดำเนินการดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับประธานกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน จัดประชุมหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้แทนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงบทบาทของ อสม. แล้วมอบหมายให้ประธานกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนและ อสม. (กรณีที่มี อสม. ยังคงสภาพอยู่) เป็นคณะกรรมการคัดเลือก อสม. ใหม่
  2. จัดแบ่งหลังคาเรือนให้เป็นคุ้มบ้าน คุ้มละ 10 – 15 หลังคาเรือนหรือใช้คุ้มเดิมที่มีการจัดอยู่แล้ว สอบถามหาผู้สมัครใจและมีคุณสมบัติตามที่กำหนด คัดเลือกเข้ารับการอบรมเป็น อสม. ในกรณีมีผู้สมัครเกิน 1 คน ให้คณะผู้ดำเนินการตัดเลือก อสม. จัดประชุมหัวหน้าครอบครัวหรือผู้แทนครอบครัวในคุ้มนั้นๆ เพื่อลงมติโดยใช้เสียงส่วนใหญ่คัดเลือกให้เป็น อสม. ประจำคุ้มบ้านนั้น

การพ้นสภาพ

อสม. จะพ้นสภาพเมื่อตาย หรือ ลาออก หรือ เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้วแต่กรณี หรือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้พ้นสภาพ    

ทั้งนี้ ในปี 2563 เป็นต้นมา ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 อสม. ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากกับภารกิจช่วยชาติต้านโควิด 19  เช่น อสม.เคาะประตูบ้าน โดยได้ให้ความรู้และคำแนะนำในการป้องกันโรคโควิด 19  มีการแจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล และเอกสารความรู้ ถึงหน้าบ้านในทุกชุมชน  อีกหนึ่งงานคือ การร่วมกับฝ่ายปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น ตั้งจุดคัดกรอง ผู้มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการร่วมติดตามเยี่ยมกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคโควิด 19 กับทีม 3 หมอ และการรณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 608 ทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ด้วย

สบส. คอลัมน์ “รอบรู้กับกรม สบส.”

ที่มา : ประวัติความเป็นมา http://sso-vibhavadi.com/data_12246