พิมพ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
อ่าน: 1816

กรม สบส.จัดกิจกรรมนำร่องวัน อสม. นำทีม อสม.ร่วมคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ทั่วไทย 13-31 มี.ค. 66

line_album_รูปผู้บริหารกรม-สบส-_๒๓๐๓๑๖A4E9C48B-C6F8-BE4E-75B7-DB664437925F

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จัดกิจกรรมนำร่องวัน อสม. ประจำปี 2566 นำ อสม. ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “อสม. ทั่วไทย ร่วมใจ คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ” ลงพื้นที่ออกเคาะประตูบ้านคัดกรองสุขภาพให้ผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 13-31 มีนาคม 2566

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” เพื่อเชิดชูเกียรติ และรำลึกถึงคุณงามความดีของแกนนำสุขภาพภาคประชาชนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในขั้นปฐมภูมิ ทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค อย่างล่าสุดจากการระบาดของโรคโควิด 19 อสม. ก็รับบทบาทบุคลากรด่านหน้าในการร่วมคัดกรอง ให้คำแนะนำและดูแลคนในหมู่บ้านและชุมชนอย่างใกล้ชิด จนระบบสาธารณสุขไทยได้รับการยกย่องในระดับโลก และเนื่องในโอกาสวัน อสม. ประจำปี 2566 กรม สบส. ก็ได้เชิญชวน อสม.ทั่วประเทศจำนวน 1.07 ล้านคน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้หัวข้อ “อสม. ทั่วไทย ร่วมใจ คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ” ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ 9 ด้าน ในชุมชนทั่วประเทศ เป้าหมาย 10.6 ล้านคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 – 31 มีนาคม 2566 เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพ ในการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพร่างกาย ส่งมอบสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน โดยปัจจุบัน อสม.ได้ดำเนินการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุไปแล้วมากกว่า 3.6 ล้านราย

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในการลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพให้ผู้สูงอายุในชุมชนนั้น อสม.จะมีการดำเนินการในฐานะหมอคนที่ 1 ภายใต้นโยบาย 3 หมอร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการบริการคัดกรองสุขภาพ 9 ด้านให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ประกอบด้วย 1. ด้านความคิดความจำ 2.ด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย 3.ด้านการขาดสารอาหาร 4.ด้านการมองเห็น 5.ด้านการได้ยิน 6.ด้านภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 7.ด้านการกลั้นปัสสาวะ 8.ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และ 9.ด้านสุขภาพช่องปาก พร้อมรายงานผลการคัดกรองสุขภาพฯ ผ่านทางแอปพลิเคชั่น “สมาร์ท อสม.” แต่หาก อสม. ที่ไม่สามารถรายงานผลการคัดกรองฯ ผ่านทางแอปพลิเคชั่น “สมาร์ท อสม.” ด้วยตนเองได้ อสม. ก็จะจัดทำรายงานผลการคัดกรองฯ ตามแบบคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชนส่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายงานผลการคัดกรองฯ ดังกล่าว ผ่าน “ระบบ 3 หมอรู้จักคุณ” ต่อไป