พิมพ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
อ่าน: 1606

กรม สบส. ห่วงคนทำงานกลางแจ้ง แนะวิธีดูแลสุขภาพด้วยสุขบัญญัติ 


660322_p28436

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ห่วงประชาชนที่ทำงานกลางแจ้ง อากาศร้อนเสี่ยงผื่นแดด เพลียแดด ลมแดด อาจช็อกฮีทสโตรก แนะปฏิบัติด้วยสุขบัญญัติ ดื่มน้ำบ่อยๆ  สวมเสื้อผ้าที่สะอาด พักในสถานที่มีอากาศเย็น ระบายอากาศได้ดี และบันทึกหมายเลขโทรศัพท์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท  

นายแพทย์สุระ  วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้หลายพื้นที่มีอากาศร้อนมากกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิอาจจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนจากแสงแดดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคและภัยสุขภาพต่างๆ หากอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดผื่น ตะคริวจากความร้อน เป็นลมแดด ฮีทสโตรก และเสี่ยงต่อชีวิตได้ และหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้เพลีย อาจทำให้เกิดการวูบ และพลัดตกจากที่สูงได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานรักษาความปลอดภัย คนสวน กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร ประมง พนักงานงานส่งของ ไรเดอร์ และพนักงานที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพห่วงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง แดดแรงจัด แนะสุขบัญญัติดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง

นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ประชาชนที่ทำงานกลางแจ้งสามารถดูแลสุขภาพตนเอง และป้องกันอุบัติภัยต่างๆ ด้วยการไม่ประมาท ตามหลักสุขบัญญัติ ดังนี้

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะความเหนื่อยล้า ทำให้เพลียแดด และเป็นลม พลัดตกจากที่สูงได้
  2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ และให้นำน้ำดื่มติดตัว ในระหว่างที่ปฏิบัติงานกลางแจ้ง
  3. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  4. ควรสลับการทำงานและพักเป็นระยะ ให้พักในสถานที่ที่มีอากาศเย็น มีการระบายอากาศที่ดี
  5. สวมเสื้อผ้าที่สะอาด สีอ่อน เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี และให้เปลี่ยนชุดถ้าเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อ
  6. ควรมีการสังเกตอาการ และดูแลเพื่อนในกลุ่ม หากมีอาการผิดปกติจะได้ปฐมพยาบาลได้ทันการณ์
  7. ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาล เช่น 1669 ไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน  

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลความรู้ บทความสุขภาพ เรื่องราวสุขภาพที่น่าสนใจได้ทางเว็บไซต์กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ www.hed.go.th  

สุขบัญญัติ