กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 0 2193 7000

กรม สบส.ส่งทีมตรวจ รพ.เอกชน หลังถูกร้องเรียกเก็บเงินจนรักษาล่าช้าทำผู้ป่วยดับ

กรม สบส.ส่งทีมตรวจ รพ.เอกชน หลังถูกร้องเรียกเก็บเงินจนรักษาล่าช้าทำผู้ป่วยดับ

156265733

        กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงตรวจโรงพยาบาลเอกชน หลังถูกร้องเรียกมีการประเมินค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจนเป็นเหตุให้เกิดการรักษาล่าช้าจนผู้ป่วยเสียชีวิต ย้ำสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดชีวิตผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ

        วันที่ 2 มีนาคม 2564 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส.นำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ รับเรื่องร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเขตจตุจักร มีการประเมินค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากพริตตี้สาวซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ทำให้เกิดการรักษาล่าช้าและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมานั้น

        นายแพทย์ธเรศฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า ขณะนี้ กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนโดยจะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ใน 2 ประเด็น คือ

1) การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวในการดูแลเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากเวชระเบียน/เอกสารทางการแพทย์ของโรงพยาบาล

2) แนวทางการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติของโรงพยาบาล เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และจะมีการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งทางฝั่งโรงพยาบาลเอกชน และญาติผู้เสียชีวิตมาให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ พิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการภายใน 7 วันทำการ

        นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) เป็นนโยบายของภาครัฐที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ในการสร้างความความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 – มกราคม 2564 สปสช.มีการพิจารณาเบิกจ่ายเงินชดเชย UCEP ไปแล้วกว่า 85,000 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 4,900 ล้านบาท จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบาย UCEP และกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยยึดชีวิตผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426

        ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า สำหรับสถานพยาบาลเอกชนที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติเป็นเหตุให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยล่าช้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ ขอให้สถานพยาบาลใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด

156222981

155826184

Save
Cookies user preferences
We use cookies to ensure you to get the best experience on our website. If you decline the use of cookies, this website may not function as expected.
ตกลง
ปฏิเสธ
Read more
Functional
Tools used to give you more features when navigating on the website, this can include social sharing.
AddThis
ตกลง
ปฏิเสธ
Analytics
Tools used to analyze the data to measure the effectiveness of a website and to understand how it works.
Google Analytics
ตกลง
ปฏิเสธ