สธ.เข้มมาตรฐานแล็บโควิด ย้ำพบผู้ติดเชื้อต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง
กระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจสอบมาตรฐานคลินิกแล็บตรวจโควิดใน กทม.ทุกแห่ง ย้ำเมื่อพบผลเป็นบวกต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ประสานนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา พร้อมรายงานข้อมูลเข้าโคแล็บ ช่วยบริหารจัดการเตียง ควบคุมโรคได้ทันสถานการณ์ ยันน้ำยาตรวจหาเชื้อยังมีเพียงพอ
วันนี้ (23 เมษายน 2564) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์จากกระทรวงสาธารณสุข มาที่ PCT laboratory service ซอยจรัญสนิทวงศ์ 67 เขตบางพลัด กทม. เพื่อทำความเข้าใจกับห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจเชื้อโควิด 19 (SARS-Cov-2) ถึงแนวทางและมาตรฐานการตรวจหาเชื้อโควิด 19 และการรายงานข้อมูล โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรฐาน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ค่อนข้างมาก ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจโควิดที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 280 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ภาคเอกชนมากกว่ารัฐโดยมีข้อตกลงร่วมกันเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ ทางแล็บต้องรายงานกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง และประสานส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา แต่ที่ผ่านมาพบคลินิกแล็บเอกชนบางแห่งไม่ได้ดำเนินการ ทำให้ผู้ติดเชื้อต้องกลับไปรอที่บ้านโทรหาโรงพยาบาลเอง มีความเสี่ยงแพร่เชื้อต่อ จึงต้องมาทำความเข้าใจให้ดำเนินการตามมาตรฐาน รวมถึงดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานเป็นระยะ
“การหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ แม้จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ แต่จิ๊กซอว์หนึ่งที่สำคัญคือข้อมูล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องการข้อมูลจากทางแล็บด้วย เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบ การรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อตามแบบฟอร์มผ่านโคแล็บจะได้ข้อมูลที่อัปเดต นำมาสู่การบริหารจัดการเรื่องเตียงได้” ดร.สาธิตกล่าว
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกันตรวจเยี่ยม ประเมิน และให้คำแนะนำแก่คลินิกแล็บตรวจโควิดใน กทม.ซึ่งมีคลินิกแล็บที่ผ่านการรับรองให้ตรวจหาโควิดเพียง 15 แห่ง ในวันนี้มีการตรวจแล้ว 4 แห่ง เน้นย้ำให้ดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งการแจ้งกรมควบคุมโรคเมื่อพบผู้ติดเชื้อ การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันแพร่โรคและประสานหาเตียงตามระบบที่วางไว้ ซึ่งคลินิกแล็บต้องทำสัญญากับโรงพยาบาลรัฐ เอกชน หรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ติดเชื้อจะมีสถานพยาบาลรองรับ โดยสัปดาห์หน้าจะตรวจให้ครบทุกแห่งใน กทม.
“หากยังหาเตียงไม่ได้ ให้ช่วยประสานข้อมูลเข้าสู่ระบบการจัดหาเตียงของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทั้ง 3สายด่วนคือ 1668, 1669, 1330 หรือผ่านไลน์ @sabaideebot เพื่อให้มีข้อมูลช่วยจัดหาเตียงตามกลุ่มอาการต่อไป ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ แต่หากได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ก็จะช่วยให้บริหารจัดการได้เร็วขึ้น จากการตรวจในวันนี้ก็พบว่าคลินิกแล็บทำตามมาตรฐานได้ดี อย่างห้องปฏิบัติการแห่งนี้ ช่วง 15 วันที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 130 ราย มีการทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนในการรับดูแลผู้ติดเชื้อ จัดหาเตียงให้ผู้ป่วยแล้ว เหลือรอเตียง 53 ราย นำข้อมูลเข้า @sabaideebot 40 ราย เหลืออีก 13 รายก็กำลังทยอยแจ้งเข้ามา ถือว่าดำเนินการได้ดี” นายแพทย์ธเรศกล่าว
ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าแม้คลินิกแล็บจะได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ตรวจหาโควิดได้ แต่จะต้องได้รับการทดสอบความชำนาญเป็นระยะ เพื่อให้การรับรองต่อไป จึงต้องมีการออกมาสุ่มตรวจคลินิกแล็บต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนโดยประชาชนที่มีความเสี่ยงหรือความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ ขอให้ตรวจสอบว่าคลินิกที่จะไปตรวจอยู่ในการรับรองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่ สำหรับชุดอุปกรณ์ตรวจและน้ำยาตรวจหาเชื้อโควิดนั้นจากการตรวจสต๊อกของห้องปฏิบัติการทั้ง 280 แห่งทุกสัปดาห์ ยืนยันว่าน้ำยามีเพียงพอ และยังมีสำรองส่วนกลางไว้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย