กรม สบส. ติดอาวุธทางปัญญาให้ยุว อสม. บอกต่อความรู้ป้องกันฝีดาษลิงด้วยสุขบัญญัติ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หนุนแนวทางและสื่อประชาสัมพันธ์ติดอาวุธทางปัญญาให้ยุว อสม. พลังเยาวชน จิตอาสา เป็นกระบอกเสียงบอกต่อความรู้ป้องกันฝีดาษลิงด้วยสุขบัญญัติผ่านสื่อต่างๆ ให้แก่เพื่อน ครอบครัว และชุมชน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงที่มีการระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีมาตรการป้องกันฝีดาษลิงอย่างเข้มงวด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษาได้จัดทำแนวทางในประชาสัมพันธ์และจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่เป็นเครื่องมือติดอาวุธให้กับยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) จำนวนกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ ที่มีความใกล้ชิดกับคนในครอบครัว เพื่อนในสถานศึกษา และคนรู้จักในละแวกชุมชน ซึ่งเป็นเยาวชนจิตอาสาที่เป็นแกนนำในสถานศึกษา มีใจรักทางด้านสุขภาพ บอกต่อให้ความรู้กับการป้องกันโรคฝีดาษลิงด้วยสุขบัญญัติ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น การจัดบอร์ดนิทรรศการ การให้ความรู้หน้าเสาธง การประชาสัมพันธ์เสียงตามสายขณะพักรับประทานอาหารกลางวัน การบอกต่อกับกลุ่มเพื่อนผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข ในการบอกต่อความรู้ โดยคาดว่า ยุว อสม. 1 คนสามารถบอกต่อให้กับคนรู้จักได้ 10 คน เป็นเยาวชนจิตอาสาที่สามารถกระจายข่าวสารให้กลุ่มบุคคลในวงกว้างได้เป็นอย่างดี
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สุขบัญญัติเป็นแนวทางปฏิบัติการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่ ยุว อสม. สามารถบอกต่อได้โดยใช้หลักสุขบัญญัติเป็นแนวทางในการป้องกันติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่สามารถติดจากสัตว์สู่คน เช่น การสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยหรือถูกสัตว์ที่ป่วย ข่วนหรือกัด และนำมาประกอบอาหาร สำหรับคนสู่คนติดได้จากละอองฝอยจากการหายใจของผู้ป่วย โดยโรคฝีดาษลิงมักมีระยะฝักตัวประมาณ 7-14 วัน หรือยาวนานได้ถึง 24 วัน อาการของผู้ป่วยฝีดาษลิง จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มหนอง สามารถป้องกันฝีดาษลิงด้วยสุขบัญญัติ ได้แก่ สุขบัญญัติข้อที่ 1 ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือดสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่าและผู้ที่ติดเชื้อ สุขบัญญัติข้อที่ 3 ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ หลังสัมผัสผู้เสี่ยงติดเชื้อ สัตว์หรือสิ่งของสาธารณะ สุขบัญญัติข้อที่ 4 กินอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ และปรุงไม่สุก สุขบัญญัติข้อที่ 5 งดการสำส่อนทางเพศ หยุดมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักและคู่นอนหลายคน และสุขบัญญัติข้อที่ 10 มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง นับว่าแนวทางตามสุขบัญญัติแห่งชาติ หากปฏิบัติจนเป็นสุขนิสัยในทุกคนทุกวัย ก็จะสามารถป้องกันโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นฝีดาษลิง และโรคโควิด 19 โดยกลุ่ม ยุว อสม. จิตอาสา จะเป็นพลังเยาวชนที่สร้างแรงขับเคลื่อนในการบอกต่อความรู้แก่เพื่อนๆ ครอบครัว และชุมชน ให้รู้จักการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อย่างถูกวิธีต่อไป