กรม สบส. น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จย่า เดินหน้าส่งเสริมมาตรฐานทันตกรรมไทย
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" เดินหน้าส่งเสริมมาตรฐานคลินิกทันตกรรม สนองพระราชปณิธานให้ประชาชนไทยมีสุขภาพฟันดี
วันนี้ (21 ตุลาคม 2565) นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" กรม สบส. น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และประสงค์ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ที่มุ่งหวังให้ปวงประชามีสุขภาพฟันที่ดี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรม สบส. ก็ยังคงนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการรับบริการสุขภาพ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการมีการจัดตั้งสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ ซึ่งกรม สบส. ได้มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการส่งเสริมมาตรฐานสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หรือคลินิกที่ให้บริการทันตกรรม ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 6,341 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกทันตกรรม 6,200 แห่ง (อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 1,800 แห่ง และส่วนภูมิภาค 4,400 แห่ง) และคลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง 141 แห่ง (อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 13 แห่ง และส่วนภูมิภาค 128 แห่ง) ให้เป็นไปตามคุณภาพ มาตรฐานที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนด ทั้งในด้านสถานที่ มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพ การบริการ ยาและเวชภัณฑ์ และความปลอดภัย รวมถึง กวดขันตรวจสอบความถูกต้องของโฆษณาสถานพยาบาลในสื่อโซเชียล มิให้มีการโฆษณาอันเป็นเท็จ โอ้อวด เกินจริงล่อลวงประชาชนให้เข้ารับบริการ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือไม่เป็นไปตามที่ประชาชนมุ่งหวังไว้
“ประการสำคัญในการเลือกรับบริการทันตกรรมทุกประเภท กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับบริการจากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ห้ามหลงเชื่อโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ หรือจัดฟันแฟชั่นในสื่อโซเชียลโดยหมอกระเป๋า ที่อาศัยราคาที่ถูกมาล่อลวง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย ทั้งจากการใช้อุปกรณ์และวัสดุที่ไม่สะอาด ทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก หรือเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจนอาจเสียชีวิตได้” นายแพทย์สุระ กล่าว
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในการเลือกรับบริการทันตกรรมจากสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ประชาชนสามารถสังเกตได้จากหลักฐาน 4 อย่างซึ่งแสดง ณ จุดบริการได้ ดังนี้ 1.ป้ายชื่อคลินิกใช้อักษรสีม่วงบนพื้นสีขาว และต้องมีเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่ป้ายชื่อร้าน 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมปีปัจจุบัน ณ จุดบริการ 3.ทันตแพทย์ที่ให้บริการมีใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหน้าห้องตรวจ และ4.แสดงใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการซึ่งจะต้องเป็นทันตแพทย์เท่านั้น โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลทันตแพทย์ได้จากเว็บไซต์ทันตแพทยสภา (http://dentalcouncil.or.th/) และตรวจสอบรายชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th/) หากไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวขอให้หลีกเลี่ยง หากอยู่ในเขตกรุงเทพ ขอให้แจ้งที่สายด่วน กรม สบส. 1426 แต่หากอยู่ต่างจังหวัดก็ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจสอบ และดำเนินการกกับผู้กระทำผิดเพื่อลงโทษตามกฎหมายต่อไป