กรม สบส. เผยผลสำรวจประชาชนฉลองตรุษจีน บริโภคไขมัน แป้ง และน้ำตาลสูง แนะควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 50.4 นิยมทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะปฏิบัติสุขบัญญัติหลังตรุษจีนเลี่ยงทานอาหารที่มีไขมัน แป้งและน้ำตาลสูง และควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ด้วยเทศกาลตรุษจีนประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน มีการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ ด้วยเนื้อสัตว์ ขนม อาหารมงคล ผลไม้ จากนั้นจะนำของไหว้มารับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคลในครอบครัว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพฤติกรรมการรับประทานอาหารไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน จำนวน 589 คน ระหว่างวันที่ 9 – 23 มกราคม 2566 จากทั่วทุกภูมิภาค พบว่า 1) ร้อยละ 50.4 ทานเนื้อสัตว์ที่ไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หัวหมู ไก่ต้ม เป็นต้น 2) ร้อยละ 47.5 ทานขนมที่มีแป้ง และน้ำตาลสูง เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมเปี๊ยะ ขนมปุยฝ้าย เป็นต้น 3) ร้อยละ 44.7 ทานอาหารผัด ทอด เช่น ผัดหมี่ซั่ว ปอเปี๊ยะทอด เป็นต้น ซึ่งผลการสำรวจพบว่าประชาชนนิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขนมที่มีแป้งและน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารผัดทอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งการรับประทานในโอกาสเฉลิมฉลองต่อเนื่องมาจากเทศกาลปีใหม่มาถึงตรุษจีนมีระยะเวลาใกล้กัน แนะนำให้กลับมาควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายตามความเหมาะสม
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีความห่วงใยประชาชนในการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง และอาหารประเภทผัด และอาหารทอด หลังเทศกาลตรุษจีน แนะประชาชนเลือกทานอาหารตามสุขบัญญัติข้อที่ 3 เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและเหมาะสม โดยควบคุมดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมอาหาร เลือกดูจากสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน เลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารผัดทอด และปฏิบัติตามสุขบัญญัติข้อที่ 8 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น การทำบอดี้เวท แอโรบิค เอ็กเซอร์ไซส์ วิ่ง เดิน ปั่นจักรยานหรือมีการเคลื่อนไหวตามความเหมาะสมของร่างกาย หากปฏิบัติสุขบัญญัติเป็นนิสัยด้วยวิธีการดังกล่าวอย่างเป็นประจำจะช่วยให้มีรูปร่างที่สมส่วน มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังคำกล่าวที่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ตลอดทุกเทศกาล