สบส. ลุยพื้นที่ 30 จังหวัดนำร่องป้องกันและควบคุมมะเร็งท่อน้ำดี สร้างระบบเฝ้าระวังเตือนภัยพฤติกรรมสุขภาพโดยชุมชน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลุยพื้นที่ 30 จังหวัดนำร่อง สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการเฝ้าระวังเตือนภัยเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแก่อาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชน วางเป้าอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงสองในสาม ในปี 2578
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โครงการรณรงค์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมทั้งถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากรายงานในปี 2560 ประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดี 14.6 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุดเกิดจากการติดพยาธิใบไม้ในตับ จากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ชอบกินปลาน้ำจืดดิบ โดยมีรายงานว่าพยาธิใบไม้ในตับเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 6-7 เท่าต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ายังมีประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับมากกว่าร้อยละ 5 ในบางส่วนของพื้นที่เสี่ยงสูง นอกจากนั้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังพบผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในประเทศไทย
“กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปี 2566 มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รับผิดชอบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแก่อาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวังเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่องการกินปลาน้ำจืดดิบ เป้าหมาย 525 ตำบลในพื้นที่ 30 จังหวัด มุ่งลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ดำเนินการให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 2 ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 คือ อัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในคนและในปลาไม่เกินร้อยละ 1 และอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงสองในสาม ในปี 2578” นายแพทย์สุระ กล่าว
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ขับเคลื่อนโครงการตำบลวิถีใหม่ปลอดภัยจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่เสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ 7 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 30 จังหวัด โดยเพิ่มขีดความสามารถอาสาสมัครสาธารณสุข สนับสนุนชุดความรู้และสื่อเพื่อเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยงของคนในชุมชน ขับเคลื่อนตำบลจัดการคุณภาพชีวิตปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ เกิดต้นแบบชุมชนที่ประชาชนมีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและเตือนภัยพฤติกรรมเสี่ยง ควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ