สธ. ยก อสม. เป็นจิตอาสาช่วยประชาชนเข้าสู่ระบบบริการ และเป็นที่พึ่งชุมชนในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข จัดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2566 ยกย่องความเป็นจิตอาสาช่วยประชาชนเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ และเป็นที่พึ่งของชุมชนเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขมอบรางวัล อสม.ดีเด่น 12 สาขา ย้ำให้พัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของระบบบริการ และช่วยขับเคลื่อนปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย
วันนี้ (20 มีนาคม 2566) ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะผู้บริหาร ร่วมเปิดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2566
นายอนุทิน กล่าวว่า อสม. หรือ “นักรบชุดเทา” เป็นจิตอาสาด้านสาธารณสุขที่ทำงานเคียงข้างแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทย มากว่า 45 ปี ช่วยขับเคลื่อนงาน เสริมรากฐานให้ระบบสาธารณสุขไทยมีความแข็งแกร่ง จนเป็นที่ชื่นชมขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ปัจจุบัน อสม. ได้ทำหน้าที่เป็นหมอคนที่ 1 ตามนโยบาย 3 หมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเข้ารับบริการในระบบสาธารณสุขประเทศ จึงต้องพัฒนาศักยภาพตนเองอยู่เสมอให้ก้าวทันเทคโนโลยีต่างๆ และความก้าวหน้าของระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการเข้ารับบริการ สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายปี 2566 “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” ด้วยการช่วยคัดกรองกรองสุขภาพ 9 ด้าน ให้กับผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ
ดร.สาธิต กล่าวว่า ในฐานะที่ อสม. อยู่ใกล้ชิดชุมชน เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมากที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสื่อสารความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพ และช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ถือเป็นผู้จัดการสุขภาพของชุมชน ดังนั้น ขอให้ อสม.ทุกคน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้กับคนในครอบครัวและชุมชน ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งจะลดภาระของระบบสาธารณสุข และลดความแออัดของสถานพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า บทบาทหลักของ อสม. คือ “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ให้ประชาชน ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี” กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของ อสม. อย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก จัดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 อัตรา เพื่อให้ อสม. หรือบุตรที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ได้เข้าศึกษาต่อ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้ช่วยบุคลากรการแพทย์ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งดูแลด้านสิทธิสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและตอบแทนความเสียสละในการทำงาน โดยมีการคัดเลือก อสม.ดีเด่น ใน 12 สาขา ประกอบด้วย 1.เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ 2.การส่งเสริมสุขภาพ 3.สุขภาพจิตชุมชน 4.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน 5.การบริการในศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) และการสร้างหลักประกันสุขภาพ 6.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 7.ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ 8.การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน 9.การจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม 10.นมแม่และอนามัยแม่และเด็ก 11.ทันตสุขภาพ และ 12.ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ