กรม สบส. ส่งต่อแนวทาง “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ขับรถปลอดภัย” สู่ อสม. ร่วมป้องกันอุบัติเหตุจราจร ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวทาง “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ขับรถปลอดภัย” สู่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) นำไปใช้คัดกรองผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีอาการมึนเมาจากการดื่มสุรา ช่วยป้องกันอุบัติเหตุจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ตามที่ ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดกิจกรรมควบคุม ป้องกันอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจกับวิถีชีวิตใหม่ ห่างไกลอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 ซึ่งการที่จะให้กิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น จะต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาร่วมควบคุมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะ การควบคุมมิให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเกิดอาการมึนเมา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอันดับที่ 2 ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รองจากการขับขี่ยานพาหนะเร็ว ในการนี้ กรม สบส. ซึ่งมีภาคีเครือข่าย อสม. กว่า 1.07 ล้านคน และ อสส. อีกกว่า 1.5 หมื่นคน จึงจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ขับรถปลอดภัย” เพื่อถ่ายทอดแนวทางการดำเนินการป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ผ่านช่องทางต่างๆ ของ กรม สบส. ซึ่งสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ให้พี่น้อง อสม. และ อสส.ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกัน และลดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ไม่ให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต
อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า แนวทาง “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ขับรถปลอดภัย” นั้น จะให้ความรู้ในการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น ซึ่ง อสม.สามารถนำไปใช้ในการตั้งด่านชุมชนเพื่อคัดกรองผู้ขับขี่ยานพาหนะ หรือผู้โดยสาร/ผู้ร่วมเดินทางที่สงสัยว่ามีอาการมึนเมาจากการดื่มสุรา พร้อมทำการบันทึกข้อมูล และรายงานผลการดำเนินงานคัดกรอง แก่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด รวมทั้ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แก่ อสม. และอสส. ใช้ในการเฝ้าระวัง และย้ำเตือนแก่ร้านค้าในชุมชนมิให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มิให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ๆ กฎหมายกำหนด อาทิ วัด ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ ฯลฯ และมิให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด