กรม สบส. ส่งต่อ 3 มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 สู่ อสม. ร่วมป้องกันการระบาดหลังเทศกาลสงกรานต์
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ดึงพลังภาคประชาชนร่วมต้านภัยโรคโควิด 19 ส่งต่อ 3 มาตรการ สู่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน คัดกรอง เฝ้าระวัง พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ภายหลังเทศกาลสงกรานต์
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 13 -17 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีการทำกิจกรรมร่วมกันช่วงสงกรานต์ อีกทั้ง การสวมหน้ากากลดน้อยลงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ กรม สบส. จึงได้ส่งต่อ 3 มาตรการ ในการควบคุมโรคโควิด 19 ให้กับ อสม. ได้ร่วมปฏิบัติเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่
1. อสม. ร่วมลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน คัดกรอง สังเกต เฝ้าระวังคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมออกเชิญชวนประชาชน ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี กับสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ก่อนเข้าช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 (กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และ+1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี กลุ่มผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข (เจ้าหน้าที่/อสม./อสส.) ซึ่งควรจะฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19
2.รณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในระหว่างการร่วมกิจกรรมในชุมชน หรือในสถานที่ที่มีกลุ่ม 608 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย ฯลฯ และ 3.สังเกตอาการป่วย ช่วง 7 วัน หลังจากร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ และตรวจโรคโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ หรือเจ็บคอ
อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบว่าตนเอง หรือบุคคลใกล้ชิดมีผลตรวจ ATK เป็นบวก ขอให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจะต้องเข้าใกล้ผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่ม 608 หากมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล แต่หากเป็นกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับยา และติดตามอาการป่วยอย่างใกล้ชิด และในกรณีที่พบสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อน มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับทราบ เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ต่อไป