กรม สบส. ชวนยุว อสม. ร่วมบอกต่อ รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันไข้เลือดออกรับฤดูฝน ปี 2566
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ชวน ยุว อสม.ร่วมบอกต่อ รณรงค์ให้ความรู้เพื่อนนักเรียน และบุคคลใกล้ชิดป้องกันตนเองจากยุงลาย นำหลัก 3 เก็บ 3 โรค มาใช้ขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ป้องกันการเจ็บป่วย และเสียชีวิต จากโรคไข้เลือดออกรับช่วงฤดูฝน ปี 2566
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลการระบาดของโรคไข้เลือดออก ของกรมควบคุมโรค แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วย 21,457 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย และอาจจะมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ในช่วงฤดูฝนมีสภาพอากาศชื้นแฉะ เกิดน้ำท่วมขัง หรือภาชนะที่วางทิ้งไว้นอกบ้าน ทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก การป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกนั้น นอกจากจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแล้ว ยังจะต้องมีการปลูกฝังทัศนคติและพัฒนาแนวคิดให้กับเยาวชน เพื่อให้ดูแลสุขภาพได้ถูกต้องอย่างยั่งยืน กรม สบส. จึงได้มีการประสานเชิญชวนให้เครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ ยุว อสม. ซึ่งเป็นนักสื่อสารสุขภาพ ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากยุงลายอย่างถูกวิธี แก่เพื่อนนักเรียน และบุคคลใกล้ชิด รับฤดูฝน 2566 โดยใช้หลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ
1)เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก
2)เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ภาชนะที่ปิดไม่ได้ให้เปลี่ยนบ่อยๆ และเทน้ำทิ้ง
3)เก็บขยะที่อาจเป็นแหล่งน้ำขังไม่ให้ยุงวางไข่ได้ มาใช้ป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของ 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
พร้อมออกสำรวจบริเวณโดยรอบสถานศึกษา และที่พักอาศัย คว่ำภาชนะใส่น้ำที่ไม่ได้ใช้ทุกชนิด กลบหลุมบ่อที่มีน้ำขัง มิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และหมั่นสังเกตอาการของเพื่อนนักเรียนหากพบหรือทราบว่า มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ก็ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ขอให้แจ้งครู อาจารย์ประจำสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบอาการ และหากพบว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกทางสถานศึกษาจะได้ประสานติดต่อ อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากสนใจสมัครเป็นยุว อสม. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ