กรม สบส. เชิดชูเครือข่ายแกนนำสุขภาพ สื่อสารความรู้เข้าถึงประชาชน เกิดการจัดการปัญหาทางด้านสุขภาพได้ด้วยตนเอง
กรม สบส. มอบโล่เชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณให้กับเครือข่ายแกนนำสุขภาพ รวม 140 รางวัล ผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสุขศึกษาและสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข่าวสารอย่างทั่วถึง สามารถจัดการปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2566) ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธานมอบโล่เชิดชูเกียรติ ประจำปี 2565 ในเวทีวิชาการเสริมพลังการพัฒนาแกนนำสุขภาพ ให้กับเครือข่ายด้านสุขภาพในการดำเนินงานชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพระดับเขต จำนวน 42 รางวัล หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จำนวน 49 รางวัล โรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 47 รางวัล และมอบประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่ายดีเด่นด้านการสื่อสารสุขภาพจำนวน 2 แห่ง โดยมีเครือข่ายทางด้านสุขภาพเข้าร่วมรับรางวัลในรูปแบบออนไลน์ (Virtual conference)
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy เป็นแนวทางนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านสุขภาพโดยใช้กลวิธีด้านสุขศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้คนเกิดการเรียนรู้และสามารถจัดการสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิต โดยปัจจุบันมีการใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร ทั้งในมิติของสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง โดยใช้สื่อ ที่มีเนื้อหาถูกต้อง สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ และเข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามในวิถีชุมชนจำเป็นต้องสื่อสารผ่านสื่อออฟไลน์ ที่ต้องอาศัยเครือข่ายแกนนำสุขภาพ เช่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) ในการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อบุคคล เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข่าวสารได้อย่างทั่วถึง เกิดความรู้นำวิธีการในการปฏิบัติตนเองที่ดีไปใช้ในการปฏิบัติตนเองในชีวิตประจำวัน และสามารถจัดการปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การจัดเวทีวิชาการเสริมพลังการพัฒนาแกนนำสุขภาพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายสุขศึกษาเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและนวัตกรรม จากพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนางานในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องและเหมาะสมตามกลุ่มวัย โดยสนับสนุนให้ชุมชนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพ การสื่อสารสุขภาพ ควบคู่กับการจัดปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีการเรียนรู้ด้านสุขภาพจนเกิดความเข้มแข็งสามารถจัดการปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง ผ่านเครือข่ายการสื่อสารสุขภาพที่ทรงพลัง เพื่อส่งเสริมให้ภาคีเครือข่าย นำผลการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป