กรม สบส. ย้ำสถานพยาบาลเอกชนทั่วไทย เตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย UCEP รับหยุดยาว 6 วัน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำสถานพยาบาลเอกชนเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ช่วงวันหยุดยาว 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 เน้นทุกแห่งยึดหลักมนุษยธรรม ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยทุกราย ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย UCEP
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) เป็นนโยบายของภาครัฐที่มีคุณประโยชน์ ในการสร้างความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งในปีนี้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ อีก 1 วัน เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่อง จึงทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องยาว 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ส่งผลให้ทั่วประเทศมีการเดินทางกันกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างคับคั่ง จึงอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที ลดการสูญเสียของผู้ป่วยและครอบครัว กรม สบส. จึงดำเนินการแจ้งเวียนให้สถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ มีการปฏิบัติตามนโยบาย UCEP อย่างเคร่งครัด ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยอาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง ซึ่งกรม สบส.จะมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบการดำเนินการของสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งอย่างใกล้ชิด หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยเพื่อรับบริการตามนโยบาย UCEP แก่ประชาชน ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของ สพฉ. หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด แต่หากผู้ป่วยมิได้มีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ซึ่งอาจจอยู่ในเกณฑ์สีเหลืองหรือสีเขียวก็จะต้องมีการสื่อสารสอบถามสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่