กรม สบส.ร่วมภาคีขับเคลื่อนยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดันไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวระดับโลก
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนขับเคลื่อนยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “Medical Hub Forum” นำ 4 ผลผลิตหลัก มาใช้ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ผลักดันประเทศไทยสู่ผู้นำในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลายเป็นเป้าหมาย ที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนา ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความหลากหลาย และมาตรฐานการบริการ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกที่กำลังขยายตัว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมด้านศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพนานาชาติ ทั้งด้านบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) บริการด้านการรักษาพยาบาล (Service Hub) แต่การจะเป็นผู้นำในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับสากลได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือในการบูรณาการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพภาคเอกชน รวมทั้งชุมชนในการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมายปลายทางที่สำคัญ คือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ ดังนั้น เมื่อวันที่ 16-18 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรม สบส.จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “Medical Hub Forum” ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชี้แจงความสำคัญร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกภาคส่วนจะได้มีโอกาสหารือร่วมกันถึงทิศทางการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงสุขภาพของโลก โดยการนำ 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ 1.บริการส่งเสริมสุขภาพ 2.บริการรักษาพยาบาล 3.บริการวิชาการ และ4.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ มาใช้ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ และเกิดผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพแบรนด์ไทย ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับ เป้าหมายในการขับเคลื่อนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น กรม สบส.จะมุ่งเน้นการส่งเสริมเชิงรุกแก่สถานประกอบการให้ได้รับมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประชาสัมพันธ์นโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism & Wellness Hub) เป็นการสร้างฐานข้อมูล สร้างมาตรฐาน ยกระดับเส้นทางสู่สากล และร่วมบูรณาการงานภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของเส้นทาง โดยการหาจุดเด่นด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร หมู่บ้านปลอดสารพิษ หมู่บ้านการผลิตสมุนไพร และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาเมือง หรือชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อเพิ่มพื้นที่ตลาดบริการสุขภาพ ภูมิปัญญาไทยให้ครบถ้วนทั้ง 76 จังหวัด พร้อมประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้