กรม สบส. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่าย และ อสส.ร่วมเป็นหู เป็นตา ขจัดภัยสุขภาพจากหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังสถานพยาบาล เสริมองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในเขตกรุงเทพฯ ร่วมเป็นหู เป็นตา เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายของสถานพยาบาล ขจัดคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน ให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ปลอดภัย
วันนี้ (23 สิงหาคม 2566) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธานเปิดการอบรม
การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลและการประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่ผิดกฎหมาย สำหรับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และบุคลากรสังกัดกรม สบส. กว่า 100 คน เข้าร่วมการอบรม
ทันตแพทย์อาคมฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดให้กรม สบส.เป็นผู้รับผิดชอบการขออนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ รวมถึงการตรวจมาตรฐานของสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หรือคลินิก โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีคลินิกที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ มากกว่า 36,190 แห่ง และด้วยการมีเพิ่มขึ้นของจำนวนคลินิกอย่างต่อเนื่อง กรม สบส.จึงมีนโยบายในการพัฒนามาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในสภาวการณ์ที่ปัญหาการฝ่าฝืนและกระทำผิดของสถานพยาบาลภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การกวดขันของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสร้างเสริมความรู้แก่เครือข่ายและประชาชนให้เกิดภูมิคุ้มกันจากอันตรายดังกล่าวด้วย ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการเฝ้าระวังบริการสุขภาพมีการพัฒนาขีดความสามารถอย่างมีประสิทธิภาพ ในวันนี้ กรม สบส.จึงกำหนดจัดการอบรมการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลและการประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่ผิดกฎหมาย สำหรับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชนผู้รับบริการให้มีประสิทธิภาพ
ทันตแพทย์อาคมฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลินิก รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,638 แห่ง โดยปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กรม สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียน ทั้งสิ้นจำนวน 573 เรื่อง โดยมีประเด็นเรื่องร้องเรียนสำคัญที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้แก่ การตรวจสอบ มาตรฐานการรักษาพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล คลินิกเถื่อน และหมอเถื่อน ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มการกระทำผิดมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่มีคลินิกอยู่มากที่สุด จึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยและสมประโยชน์ต่อไป