กรม สบส.ชวน อสม.ร่วมใช้แอป “พ้นภัย” ยกประสิทธิภาพการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม แจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางในระบบ “พ้นภัย” เพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลภัยพิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันสถานการณ์
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ภัยธรรมชาติ เป็นภัยที่มักจะเกิดอย่างฉับพลัน โดยภัยธรรมชาตินั้นมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งประเทศไทยก็มักจะพบกับภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง (กลุ่ม 608) เด็กเล็ก ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ ฯลฯ ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกลุ่มเปราะบางอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน ดังนั้น กรม สบส.ซึ่งเป็นผู้ให้การดูแล กำกับ การปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกว่า 1,070,000 คน ทั่วประเทศ จึงประสานกับประธาน อสม.ทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแจ้งประสานกับพี่น้อง อสม. ในพื้นที่ร่วมแจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย อสม.สามารถรับรหัสเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ เพื่อในกรณีเกิดเหตุภัยธรรมชาติ อสม.จะสามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางในการรับแจ้งเหตุ ในการขอความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบเทคโนโลยีการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ทราบถึงพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางในทุกพื้นที่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะตรวจสอบเรื่อง และให้การช่วยเหลือในเวลาที่เหมาะสมของแต่ละภัยพิบัติ แต่หากเกินศักยภาพที่จะให้การช่วยเหลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการประสานหน่วยงานระดับอำเภอเข้าช่วยเหลือให้ทันต่อสถานการณ์ต่อไป
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ แนวทางเข้าช่วยเหลือดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยของ อสม. นั้นจะมีการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ระยะ 1.การเตรียมตัวระยะก่อนเกิดภัยพิบัติ การวางแผนเตรียมการรับสถานการณ์ การวิเคราะห์กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ฐานข้อมูลสุขภาพของครัวเรือน การแจ้งเตือนประชาชน การแจ้งเตือนข่าว แผนการเยี่ยมบ้าน การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล 2.ระยะเกิดภัยพิบัติ การดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยเบื้องต้น การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม และการสร้างขวัญและกำลังใจ และ 3.ระยะฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เยียวยาจิตใจเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย การฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและอาหาร เพื่อป้องกันโรคระบาด การที่ อสม. แจ้งตำแหน่งพิกัดข้อมูลกลุ่มเปราะบางผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” จะช่วยให้การดำนินการในการเตรียมตัวระยะก่อนเกิดภัยพิบัติของ อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว