กรม สบส.จัดทีมสอบ รพ.เอกชน ย่านพัฒนาการ ปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข สั่งการพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านพัฒนาการ หลังได้รับเบาะแสปฏิเสธรักษาชาวต่างชาติ ซึ่งได้รับบาดเจ็บทางถนนจนหมดสติ หากพบปฏิเสธจริง ลงดาบทันที
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในย่านพัฒนาการ ปฏิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ ซึ่งประสบอุบัติเหตุทางถนนจนหมดสติ โดยเมื่อกรม สบส.ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวก็มิได้นิ่งนอนใจรีบสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ณ เวลาที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลได้มีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ 2) โรงพยาบาลมีการประเมินเกณฑ์ผู้บาดเจ็บว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจสอบพบว่าทางโรงพยาบาลมิได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น แต่อย่างใด
นายแพทย์สุระฯ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ตั้งเกณฑ์ให้ผู้ป่วยที่หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ซึ่งจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การที่สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ อีกทั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดไว้ว่าหากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง ห้ามนำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขในการรักษา เพื่อร่วมคุ้มครองสุขภาพ ร่างกายของประชาชน สร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานพยาบาลเอกชนไทยต่อไป