กรม สบส.ย้ำ พ.ร.ฎ.โรคศิลปะกำหนดอาหาร มีผลบังคับใช้แล้ว แนะผู้ปฏิบัติงานมาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้แล้ว ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหารทั้งรายเก่าและใหม่มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2563 เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการในด้านโภชนาการ ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย สามารถฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษาเพื่อให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหาร ภายหลังวันที่ 21 กันยายน 2563 หากจะปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหารต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารจากกรม สบส.เสียก่อน ส่วนผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหารซึ่งได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหาร ก่อนพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ สามารถประกอบโรคศิลปะต่อไปได้ แต่ต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต โดยให้ยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ผ่านทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.thaijobjob.com) นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อว่า การกำหนดอาหารนั้นแม้ว่าจะเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะที่เพิ่งได้รับการบรรจุใหม่ เป็นสาขาที่ 8 ของการประกอบโรคศิลปะ แต่ก็มีบทบาทในการด้านการสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน ในฐานะผู้ส่งเสริม และฟื้นฟูภาวะโภชนาการ โดยนำความรู้ทางด้านโภชนาการมากำหนดปริมาณอาหารและสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย และถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ป่วยจนสามารถเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย หากผู้ป่วยได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะของโรค ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ การที่ผู้ปฏิบัติงานด้านกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากจะสร้างเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐาน และจรรยาบรรณในฐานะผู้ที่ใช้อาหารเป็นยาในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยของโรค ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารนั้น จะต้องได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาการกำหนดอาหารจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารรับรอง และต้องสอบผ่าน ความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารกำหนด ซึ่งปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารรับรอง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยมหิดล 3.มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4.มหาวิทยาลัยพะเยา 5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน 6.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 7.มหาวิทยาลัยบูรพา และ8.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี