กรม สบส. สั่งสอบเข้มหลังพบเอกสารประวัติผู้ป่วยหลุดไปเป็นถุงขนม เตือน รพ.เอกชนทุกแห่ง ปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล และ PDPA
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ควบคุม กำกับสถานพยาบาลเอกชน จัดทำหนังสือเวียนสั่งการให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจัดให้มีและรายงาน หลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลและผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการตามจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
จากกรณีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล ถึงถุงใส่ขนมซึ่งพับจากเอกสารผู้ป่วยนอก (Out Patient Department : OPD) ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกรม สบส.ได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายนั้น
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการรักษาความลับและความปลอดภัยข้อมูลของผู้ป่วยมาโดยตลอด กรม สบส. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม กำกับสถานพยาบาลเอกชน จึงขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจัดให้มีและรายงาน หลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลและผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2545 หากสถานพยาบาลแห่งใด มิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดให้เก็บรักษาเอกสารของผู้ประกอบวิชาชีพ/ผู้ป่วย และเอกสารที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลไว้ให้อยู่ในสภาพที่สามารถตรวจสอบได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จัดทำ ก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีการเก็บรักษาเอกสารไว้เกินระยะเวลาที่กำหนด แต่กลับปล่อยให้มีการเล็ดลอดข้อมูลของผู้ป่วยสู่สาธารณชน ก็อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ โดย กรม สบส.ได้จัดทำหนังสือแจ้งเวียนกำชับสถานพยาบาลเอกชนทุกทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาล และคลินิก ให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการจัดเก็บและทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า กรม สบส. ได้ประสานกับ สสจ.อุบลราชธานี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ส่งหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกกล่าวอ้าง ให้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเอกสารผู้ป่วยนอกที่หลุดออกจากระบบ รวมถึง ชี้แจงแนวทางในการเก็บรักษาและทำลายเอกสารที่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล/ผู้ป่วย และเอกสารอื่นที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของโรงพยาบาลให้แก่ สสจ.อุบลราชธานี ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าโรงพยาบาลมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีการดำเนินการตามเอาผิดตามกฎหมาย แต่หากมิได้มีการกระทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการตักเตือน และชี้แจงแนวทางการทำลายเอกสารมิให้ข้อมูลหลุดออกไปสู่สาธารณชนต่อไป