กรม สบส. จัดประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติ อสม.ภาคกลาง เผยมีผู้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายกว่าร้อยละ 89
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จัดประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคกลาง เผยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Google Form แล้วมากกว่า 320,000 ราย โดยมีเห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 89 พร้อมเชิญชวน อสม.ทั่วไทยร่วมแสดงความคิดเห็นในโค้งสุดท้าย ก่อนปิดประชาพิจารณ์
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2567) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... ภาคกลาง โดยมีประธานชมรม อสม.ระดับจังหวัด และตัวแทน อสม.ในพื้นที่ภาคกลาง ทั้ง 24 จังหวัดเข้าร่วม
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า อสม.เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพส่งเสริมให้ประชาชน ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงตามมาตรฐานบริการสุขภาพปฐมภูมิซึ่งรัฐบาล โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... เพื่อการยกระดับทักษะความสามารถ รวมถึงการสร้างขวัญกำลังใจ ดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการให้แก่ อสม.
โดยกรม สบส. ได้เปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านช่องทาง Google Form ที่หน้าเว็บไซต์กรม สบส. ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน - 11 กรกฎาคม 2567 ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว จำนวนกว่า 329,500 ราย มีผู้เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฯ จำนวนกว่า 291,600 ราย หรือประมาณร้อยละ 89 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2567) พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. .... ทั้ง 4 ภาค โดยในวันนี้เป็นการประชุมฯ ภาคกลาง ซึ่งมีประธานชมรม อสม.ระดับจังหวัด และตัวแทน อสม.ในพื้นที่ภาคกลาง ทั้ง 24 จังหวัดเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ยังมีระยะเวลาแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านทางเว็บไซต์ กรม สบส. จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 24.00 น. จึงขอเชิญชวนพี่น้อง อสม. และประชาชนทุกท่าน มาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้การดำเนินการร่างกฎหมายฯ เป็นไปอย่างรอบคอบ เป็นระบบ มีการนำความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายในทุกขั้นตอน