กรม สบส.จับมือ กรม คร.ต่อสู้โรค NCDs ร่วมจัดทำหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม.ยกระดับการแก้ปัญหา NCDs ในชุมชน ก่อนขยายผลต่อทั่วประเทศ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จับมือกรมควบคุมโรค (กรม คร.) ผลิตหลักสูตรครูฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สร้าง ครู ก ส่งต่อความรอบรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ให้ อสม. ได้นำไปใช้ปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs
ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในแต่ละปีประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 4 แสนคน และต้องใช้งบประมาณไปกับค่ายา เวชภัณฑ์ สูงถึง 139,000 ล้านบาท อีกทั้ง มีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ อีกกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของปัญหาโรค NCDs ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนและงบประมาณของประเทศ จึงมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชนจากโรค NCDs ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรม สบส. ได้มีนโยบายในการสนับสนุนการต่อสู้กับโรค NCDs โดยการนำพลังของเครือข่ายภาคประชาชนอย่าง อสม.เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs แต่การพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของโรค NCDs และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐานนั้น ครูฝึกอบรม อสม. (ครู ก) ซึ่งจะเป็นบุคลากรต้นแบบให้กับ อสม. ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขาดไปมิได้ กรม สบส. จึงร่วมกับกรมควบคุมโรค นำโดยกองโรคไม่ติดต่อ และภาคีเครือข่ายสมาคมระดับประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับ NCDs พัฒนาหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม. NCDs ขึ้น โดยดำเนินการยกร่าง หลักสูตรฯ สังเคราะห์ พิจารณาเนื้อหาในแต่ละรายวิชา รวมถึง สื่อการสอน ที่เข้าใจง่าย และเป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ให้ความรู้ กับ อสม. ซึ่งคาดว่าหลักสูตรต้นแบบสำหรับครูฝึก อสม. จะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาสแรก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น เนื้อหาตามหลักสูตรครูฝึกอบรม อสม. ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรค NCDs มีการกำหนดวิชาที่ฝึกอบรมไว้ จำนวน 6 วิชา ประกอบด้วย 1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 2.การทำหน้าที่ครูฝึก ในการสนับสนุน บทบาท อสม. ในการดูแลสุขภาพประชาชนให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 3.โภชนาการและหลักการจัดอาหารจานสุขภาพ 4.แนวทางการจัดกิจกรรมทางกาย 5.เทคนิคการสนทนาสร้างแรงจูงใจ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และ 6.ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการ ซึ่ง อสม. ที่ได้รับการอบรมจากครูฝึก จะสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้รับไปใช้ในการคัดกรองสุขภาพ ให้ข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การนับคาร์บ หรือ Carb การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ การออกกำลังกาย และการสร้างอาสาสมัครประจําครอบครัว (อสค.) การเยี่ยมบ้านติดตามร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมรณรงค์สุขภาพในชุมชน เพื่อความยั่งยืนเกิดการพึ่งตนเองได้ของประชาชนและชุมชนต่อไป