สบส. เดินหน้ายกระดับ ศสมช.ทั่วไทย สู่ศูนย์ปฏิบัติการ NCDs
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ายกระดับศูนย์สาธารณสุข มูลฐานชุมชน (ศสมช.) ทั่วประเทศ สู่ศูนย์ปฏิบัติการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (ศูนย์ NCDs ประจำหมู่บ้าน) เป็นศูนย์กลางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สรรสร้างนวัตกรรมการจัดการ NCDs ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี วันนี้ (17 กรกฎาคม 2568) ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ดร.นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน ในการขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนจากศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแกนนำ อสม.ในพื้นที่ต้นแบบ กว่า 145 คน เข้าร่วมประชุม
ดร.นายแพทย์อดิสรณ์ กล่าวว่า ในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง โดยเฉพาะนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ และลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายเดิม ผ่านการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งกรม สบส.เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำพลังของภาคประชาชนมาร่วมจัดการสุขภาพ จึงดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดการสาธารณสุขมูลฐานชุมชน เพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพภาคประชาชน ยกระดับ ศสมช. ในชุมชนทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์ NCDs ประจำหมู่บ้าน และเพื่อให้การดำเนินงานของ ศสมช. ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูงสุด กรม สบส. จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนา ศสมช. ในการขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกัน NCDs พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ชุมชนเป้าหมายขับเคลื่อนสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน
ด้านนายจรัส รัชกุล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ NCDs ประจำหมู่บ้าน จะมีบทบาทในการคัดกรอง NCDs เบื้องต้น และให้บริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน รวมทั้ง ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และมีการนำนวัตกรรมสุขภาพที่เกิดขึ้นไปใช้ในการจัดการ NCDs ช่วยลดเวลาและความแออัดของประชาชนที่ไปรับบริการจากสถานบริการสาธารณสุข เกิดการลดป่วย ลดโรค ลดรายจ่าย ป้องกันมิให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน มุ่งสู่เป้าหมายการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นำไปสู่ชุมชนขับเคลื่อนสาธารณสุขมูลฐานอย่างยั่งยืน
*************