สธ.ยัน Hospitel มีมาตรฐาน จัดหาแล้วเกือบ 5,000 เตียง เพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19
กระทรวงสาธารณสุข ยัน Hospitel ได้มาตรฐาน ทุกแห่งผ่านการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียน จัดหาแล้วเกือบ 5,000 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงส่งรักษาในโรงพยาบาลหลัก เตรียมหาเพิ่มให้ได้ 5-7 พันเตียง มั่นใจเพียงพอรองรับผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล พร้อมออกประกาศให้ รพ.เอกชน และคลินิกดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ประสานส่งต่อหาเตียง หากไม่ดำเนินการมีความผิดตามกฎหมาย
วันนี้ (15 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงถึงมาตรการ Hospitel รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ขณะนี้ ได้นำโรงแรมมาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือรักษาในโรงพยาบาลหลัก 3-5 วันแล้วอาการดี โดยมีการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม หากอาการเปลี่ยนแปลงจะย้ายกลับโรงพยาบาลหลักทันที มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐาน ขณะนี้ มี Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันเตียง เตรียมเพิ่มให้ได้ 5-7 พันเตียง ซึ่งจะช่วยลดแออัดในโรงพยาบาล รวมทั้งขณะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เตรียมเตียงจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ ตำรวจ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน รวม 6,525 เตียง ใช้แล้ว 3,700 กว่าเตียง ส่วนหนึ่งสำรองไว้สำหรับผู้ที่มีอาการมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
นายแพทย์ธเรศกล่าวต่อว่า ในการขึ้นทะเบียน Hospitel กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะตรวจประเมินมาตรฐาน ทั้งด้านโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ น้ำเสีย ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน มีการจัดบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน โดยมีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 1 คนต่อ 20 เตียง เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสมัครร่วม Hospitel ทางออนไลน์ได้ โดย สบส.จะอนุมัติทางออนไลน์ด้วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคล และกองทุนสุขภาพตามสิทธิต่างๆ
ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ยืนยันว่าทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาและการควบคุมโรค แม้ขณะนี้ทั่วประเทศจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 พันรายต่อวัน แต่คิดว่ายังเพียงพอ จึงยังคงแนวทางนี้ โดยกรรมการวิชาการจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
นายแพทย์ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการแจ้งมีคลินิกหลายแห่งที่ตรวจผู้ป่วยโควิด 19 มีผลเป็นบวก ไม่ดำเนินการให้การดูแลผู้ป่วย ทำให้เป็นผู้ป่วยต้องเดินทางไปหาเตียงเอง ทำให้ยากต่อการควบคุมโรค สบส.จึงออกประกาศกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้ง รพ.เอกชนและคลินิก โดยเฉพาะคลินิกตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้ดำเนินการดังนี้ 1.จะต้องมีระบบให้คำปรึกษาก่อนตรวจ 2.คลินิกต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ3.เมื่อตรวจผลเป็นบวก จะต้องแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องการควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดหาเตียงผู้ป่วย โดยประสานและส่งต่อ หากไม่ดำเนินการจะมีโทษ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชน
"โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังนั้น สถานพยาบาลทุกแห่งรวมถึงภาคเอกชนต้องให้การดูแลรักษาให้ผู้ป่วยปลอดภัยและสถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่ดำเนินการมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีโทษทั้งจำและปรับ ขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน 2-3 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตาม และคลินิกแล็บที่ทำการตรวจแล้วปล่อยให้ผู้ติดเชื้อเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ หากพบว่าไม่ดำเนินการตามกฎหมายจะมีการเอาผิดด้วย" นายแพทย์ธเรศกล่าว
ที่มา : สำนักสารนิเทศ