กรม สบส.แจงกรณีการก่อตั้ง รพ.สนาม ย่านหลักสี่
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้แจงการก่อตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยโรงพยาบาลเอกชน ในเขตหลักสี่ มีการยื่นขออนุมัติแต่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หากเสร็จแล้วทางโรงพยาบาล จะแจ้งให้กรม สบส.ไปตรวจสอบก่อน เพื่อพิจารณาอนุมัติ ชี้การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง มีการตรวจสอบมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญในทุกๆด้าน ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 และมีความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนโดยรอบ ขณะนี้ โรงพยาบาลสนามดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเอกชนที่ขออนุมัติ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่มีประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงการตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ ว่าได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง และมีความปลอดภัยต่อชุมชนหรือไม่อย่างไรนั้น กรม สบส.ขอเรียนว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่ง ต้องดำเนินการสำรองเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด19 ในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาการขาดแคลนเตียง หรือเกิดผลกระทบกับการให้บริการทางการแพทย์ประเภทอื่นๆในอนาคต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศ เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกรณีให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเอกชนที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล แต่ต้องได้รับอนุมัติจากกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน ที่ผ่านมาทำให้มีโรงพยาบาลสนามในรูปแบบนี้ เช่น Hospitel และโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 มีจำนวน Hospitel 67 แห่ง จำนวนเตียง 13,695 เตียง)
นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อว่า ในกรณีการตั้งโรงพยาบาลสนามในเขตหลักสี่นั้น ผู้ประกอบกิจการได้มีการยื่นหนังสือขออนุมัติเปิดโรงพยาบาลสนามกับกรม สบส.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและจะสามารถเปิดให้บริการได้ก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ได้ทำการตรวจสอบสถานที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐานโรงพยาบาลสนามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเสียก่อน จึงขอชี้แจงกับพี่น้องประชาชนให้มั่นใจได้ว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น จะมีการควบคุมมาตรฐานการดำเนินการตั้งแต่การเลือกสถานที่ การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ระบบการดูแลรักษา/ส่งต่อผู้ป่วย ระบบสื่อสาร การป้องกันควบคุมการติดเชื้อ ระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการขยะและน้ำเสีย การยอมรับของชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด 19 และมีความปลอดภัยสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนโดยรอบ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเอกชน ที่มีความประสงค์จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ภาครัฐก็มีความยินดีที่จะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ในการดำเนินการ แต่ขอให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุมัติจากผู้อนุญาตฯ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชน และหากมีข้อสงสัยหรือมีข้อคำถาม ก็สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ