กรม สบส.เตรียมสอบคลินิกเสริมความงาม ย่านเตาปูน ไขปมสาวดับหลังศัลยกรรมหน้าท้อง
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมสอบเจ้าของคลินิกเสริมความงาม ย่านเตาปูน หลังญาติร้องทำสาวดับหลังรับบริการศัลยกรรมหน้าท้อง จ่อฟันโทษทั้งเรื่องมาตรฐานและการฝ่าฝืนคำสั่งลักลอบให้บริการระหว่างการระบาดโรคโควิด 19 จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลเกี่ยวกับหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งเข้ารับบริการศัลยกรรมหน้าท้อง กับคลินิกแห่งนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งหญิงสาวรายดังกล่าวเกิดอาการหมดสติระหว่างการรับบริการศัลยกรรมจนต้องมีการส่งต่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น
วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีดังกล่าว กรม สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเตาปูน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริการเสริมความงาม อาทิ ดูดไขมัน เสริมหน้าอก เสริมจมูก เสริมคาง ฯลฯ แต่เมื่อติดต่อไปยังผู้ประกอบกิจการเพื่อเข้าตรวจสอบสถานที่พบว่าไม่สามารถติดต่อได้
ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องในฝั่งผู้เสียชีวิต และระงับการโฆษณาที่ไม่ได้รับการอนุมัติของคลินิก ก่อนจะประสานให้ผู้ประกอบกิจการและแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมาให้ถ้อยคำที่กรม สบส.ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดความกระจ่างในสาเหตุการเสียชีวิต โดยจะมุ่งตรวจสอบในส่วนของมาตรฐานการให้บริการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และตัวผู้ให้บริการในวันที่เกิดเหตุว่าเป็นแพทย์จริงหรือปล่อยให้บุคคลอื่นมาสวมรอยให้บริการแทนจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนประเด็นที่คลินิกลักลอบให้บริการเสริมความงามในระหว่างที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งกำหนดให้คลินิกเวชกรรมที่เสริมความงามปิดดำเนินการเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 นั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ดำเนินการฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ต่อไป
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การที่คลินิกนำบุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์มาให้บริการนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้รับบริการแล้ว ยังเป็นการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษรุนแรงทั้งจำและปรับ โดยผู้ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ที่ปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้งกรม สบส.อาจจะมีคำสั่งปิดคลินิกเป็นการชั่วคราวหรือถาวรอีกด้วย จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลทุกราย ควบคุมดูแลการดำเนินการของสถานพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้รับบริการว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และสมประโยชน์ตามที่หวัง ทั้งนี้ หากผู้ใดได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรม สบส. 1426