กรม สบส.แนะประชาชนตั้งสติรับสถานการณ์อุทกภัย ระวังอันตรายจากทั้งโรค และอุบัติเหตุจากไฟฟ้า
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนตั้งสติให้พร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย หลังขนย้ายสิ่งของควรมีการจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณรอบที่พัก รักษาความสะอาดของน้ำและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ป้องกันอันตรายจากโรคที่มากับน้ำ และอุบัติเหตุจากไฟฟ้า
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์อุทกภัยในตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศยังคงน่าเป็นห่วง อีกทั้งในหลายพื้นที่ของประเทศเองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนัก ซึ่งผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น นอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และทรัพย์สินแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายในด้านสุขภาพ ร่างกาย ดังนั้น เมื่อประชาชนต้องประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันแล้วขอให้ตั้งสติให้ดี หลังจากขนย้ายสิ่งของแล้ว ประชาชนก็ควรมีการจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณรอบที่พัก รักษาความสะอาดของน้ำและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันตัวจากโรคติดต่อที่มากับน้ำ อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า หรือโรคฉี่หนู ฯลฯ โดยปฏิบัติตามแนวทางง่ายๆ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ไม่ทิ้งขยะมูลฝอย หรือถ่ายอุจจาระลงน้ำ หากห้องน้ำใช้การไม่ได้ให้ขับถ่ายลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะ 2.ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ 3.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่/ดื่มน้ำต้มสุก 4.ไม่ใช้น้ำท่วมขังชำระร่างกาย หรือล้างภาชนะใส่อาหาร และ5.หากครอบครัวมีเด็กเล็กต้องดูแลให้อยู่ห่างจากน้ำ หรือไม่ให้ลงเล่นน้ำท่วมขัง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการจมน้ำหรือโรคติดต่อที่มากับน้ำ นอกจากอันตรายจากโรคแล้วยังมีอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟฟ้าดูด ซึ่งเป็นสาเหตุของของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 รองจากการจมน้ำ ด้วยที่พักอาศัยส่วนใหญ่มักจะมีการติดตั้งปลั๊กไฟกับผนังหรือเสา เมื่อปลั๊กไฟถูกน้ำท่วมแล้วก็จะทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร จึงต้องตัดไฟบริเวณที่ถูกน้ำท่วมทันที และเมื่อน้ำลดแล้วก็ไม่ควรเปิดระบบควบคุมไฟฟ้า หรือสะพานไฟที่เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟที่ถูกน้ำท่วมทันที เพราะอาจเกิดอันตรายจากไฟฟ้าได้ จะต้องมีการตรวจสอบปลั๊กไฟ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จมน้ำ หรืออยู่ใกล้กับน้ำท่วมจากผู้ชำนาญการด้านระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลภาครัฐแห่งใดและต้องการตรวจสอบ ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ หรือระบบไฟฟ้าจากเหตุอุทกภัย สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนได้ที่กรม สบส.หรือศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 ในพื้นที่
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบผู้ประสบภัยไฟฟ้า อย่าเข้าไปช่วยเหลือโดยพลการเพราะอาจจะทำให้ผู้ช่วยเหลือบาดเจ็บตามไปด้วย ขอให้ตั้งสติให้ดี สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตัดกระแสไฟฟ้าในจุดที่เกิดเหตุทันที พร้อมสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถุงมือยาง และรองเท้ายางก่อนทำการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังที่ปลอดภัย และติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทางสายด่วน 1669 เพื่อส่งตัวผู้ประสบภัยไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่หากพบว่าผู้ประสบภัยหยุดหายใจ ให้ทำการปั้มหัวใจ(CPR) โดยจัดให้ผู้ประสบภัยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตรประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที จนกระทั่งผู้ประสบภัยหายใจ หรือหน่วยบริการมาถึง