กรม สบส. พร้อมส่งทีมเอ็มเสิร์ทช่วยเหลือสถานพยาบาลภาครัฐ หลังน้ำลด
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมส่งทีมเอ็มเสิร์ท ช่วยเหลือหลังน้ำลด ดูแลความพร้อม 5 ด้าน ประกอบด้วยด้านเครื่องมือแพทย์ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร และอาคารสถานที่ กู้วิกฤติสถานพยาบาลอย่างเต็มที่
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางทำให้สถานพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในชุมชน ส่งผลให้เครื่องมือแพทย์ ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และอาคารสถานที่ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยบางแห่งเริ่มคลี่คลาย และน้ำลดในหลายพื้นที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ส่งทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) หรือทีมวิศวกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน จากศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง กองวิศวกรรมการแพทย์เข้าสำรวจ ฟื้นฟูสถานพยาบาลหลังน้ำลดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยทีมเอ็มเสิร์ทได้ดำเนินการเข้าไปจัดการฟื้นฟูโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยการปฏิบัติการหัวใจหลักของสถานพยาบาลในการจัดการระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร เครื่องมือแพทย์ และอาคารสถานที่ เช่น กู้ชุดยูนิตทำฟัน เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า และซ่อมระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบสื่อสารให้กลับมาใช้งานได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการช่วยลดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ได้สั่งการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพเขต 1-12 ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจมีเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยในการช่วยเหลือสถานพยาบาลได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริม เตรียมความพร้อมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้กับประชาชนหลังน้ำลด เช่น โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู เป็นต้น
นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ทีมเอ็มเสิร์ท เป็นทีมที่มุ่งเน้นในการเตรียมความพร้อมและดูแลสถานบริการสุขภาพให้พร้อมทำการได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านวิศวกรรมการแพทย์ อาทิ ระบบไฟฟ้า, ระบบก๊าชทางการแพทย์, ระบบประปา, ระบบลิฟต์และขนส่ง, ระบบสื่อสารฯลฯ จะต้องมีการป้องกันมิให้น้ำท่วม และมีระบบสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม จะต้องมีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้าง หลังคา อุปกรณ์และเสาวิทยุสื่อสาร ป้ายต่างๆ ที่เป็นบริเวณรับลมหรือรองรับน้ำฝนในปริมาณมาก มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันระบบระบายน้ำฝน ระบบบำบัดน้ำเสีย เคลื่อนย้ายเครื่องจักร พัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในพื้นที่สูง ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลภาครัฐต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อทีมเอ็มเสิร์ทของศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพในพื้นที่ หรือสอบถามที่สายด่วน กรม สบส. 1426 เพื่อให้ความช่วยเหลือ ตรวจสอบ ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม ให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นปกติ