กรม สบส.เตือนแพทย์ และสถานพยาบาลเอกชนต้องตรวจสอบที่มาของยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมารับบริการทุกครั้ง
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนแพทย์ประจำ รพ.เอกชน/คลินิก ตรวจสอบที่มาของยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมาขอรับบริการทุกครั้ง หากไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องห้ามให้บริการโดยเด็ดขาด ป้องกันผลกระทบที่เกิดจากยาหรือวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมขอความร่วมมือจาก รพ.เอกชน/คลินิกทุกแห่ง ให้สอดส่อง ดูแล ให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลถึงคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ยี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) แก่ประชาชน ทั้งที่ยังไม่มีรายงานว่าประเทศไทยได้รับการจัดสรรวัคซีนชนิดดังกล่าว โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว แพทย์ประจำคลินิกให้การยอมรับว่ามีการฉีดวัคซีนจริง แต่อ้างว่าคนไข้นำวัคซีนมาให้ฉีด โดยที่คลินิกไม่มีการจำหน่ายวัคซีนยี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แต่อย่างใดนั้น
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่แพทย์ผู้ให้บริการประจำคลินิกฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของยา หรือวัคซีนที่ผู้รับบริการนำมาขอรับบริการว่ามีการนำเข้าอย่างถูกต้องและมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่นั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการได้ เพราะยาหรือวัคซีนที่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็อาจจะเป็นของปลอม และเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อน หรือเสื่อมสภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี กรม สบส.จึงขอเตือนให้แพทย์ประจำสถานพยาบาลเอกชนทุกท่าน ต้องตรวจสอบยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมารับบริการทุกครั้ง หากยาหรือวัคซีนที่นำมาให้นั้นไม่มีการขึ้นทะเบียนแล้วก็ไม่ควรจะให้บริการ และให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร่างกาย ซึ่งการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ไม่ได้นำเข้าอย่างถูกต้อง แพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะมีความผิดตามมาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมทางการแพทย์
พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล กวดขัน และตรวจสอบให้แพทย์ประจำสถานพยาบาลเอกชนของตนปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบวิชาชีพให้ถูกต้อง เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือผลกระทบต่อร่างกายของผู้รับบริการ จากยาหรือวัคซีนแล้ว ถึงแม้ผู้รับบริการจะนำมาเอง ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในมาตรา 34 (2) ฐานไม่ควบคุม ดูแลให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าแพทย์ผู้ให้บริการไม่จัดทำประวัติผู้ป่วย ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 35 (3) ฐานไม่จัดทำเอกสาร หลักฐานของผู้ป่วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากประชาชนท่านใดต้องการรับบริการวัคซีนทางเลือก ก็ขอให้ติดต่อผ่านสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐโดยตรงเท่านั้น ไม่ควรนำวัคซีนโควิด 19 ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.หรือไม่ทราบแหล่งที่มา มาขอรับบริการจากสถานพยาบาล