กรม สบส. ร่วม ตร. และสสจ.ปทุมธานี จับคลินิกเถื่อน ลักลอบเปิดแล็บตรวจคัดกรองโควิด 19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี บุกจับคลินิกเถื่อน ลักลอบให้บริการห้องแล็บตรวจคัดกรองโควิด 19 แก่ประชาชน โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งผู้ให้บริการก็ไม่ใช่แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์ สั่งฟันโทษทันที 2 ข้อหา ทั้งฐานคลินิกเถื่อน และเทคนิคการแพทย์เถื่อน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่ กรม สบส.ได้รับการประสานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ว่าพบเบาะแสการเปิดคลินิกเถื่อน ซึ่งให้บริการในลักษณะห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID 19) ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แก่ประชาชน ซึ่งคลินิกเถื่อนเหล่านี้ มักจะมีการดำเนินการที่ไม่เป็นมาตรฐานสุ่มเสี่ยงให้เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการพบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” (Omicron) ยิ่งต้องดำเนินการควบคุม ปราบปรามอย่างรวดเร็วเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. สนธิกำลังร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยจากการตรวจสอบพบว่า คลินิกดังกล่าวให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 แก่ประชาชนด้วยชุดตรวจ ATK รายละ 800 บาท โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการกับ สสจ. แต่มีการนำใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากสถานพยาบาลอื่นมาแสดง เพื่อตบตาผู้รับบริการ และเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ให้บริการ และผู้ช่วยซึ่งอยู่ประจำคลินิกทั้ง 2 ราย ก็มิใช่แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์แต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งข้อหากระทำผิดเบื้องต้น 2 ข้อหา ได้แก่ 1) ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2)ความผิดตามพระราชบัญญัติเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 ในฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมยึดของกลางที่ได้ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
ด้านนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะต้องกระทำในคลินิก หรือห้องปฏิบัติการที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้น ก็อาจจะเป็นการเสียเวลา และเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยการที่ผู้ให้บริการขาดความชำนาญ หรืออุปกรณ์การตรวจคัดกรองที่ไม่ได้มาตรฐานผลตรวจที่ได้ก็อาจจะขาดความเที่ยงตรง อีกทั้งวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือการระบาดจากสถานที่เก็บตัวอย่าง จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลทุกครั้งก่อนรับบริการ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกที่ขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://mrd-hss.moph.go.th/) และในส่วนของห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บ ที่ตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (https://www.dmsc.moph.go.th/) ซึ่งจะมีการแสดงที่ตั้งของสถานพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการเหล่านั้นอย่างชัดเจน หากตรวจสอบรายชื่อไม่พบ หรือสถานที่ตั้งไม่ตรงกับที่แสดงในเว็บไซต์ ขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้เบื้องต้นว่าเป็นคลินิกเถื่อน หรือห้องแล็บเถื่อนให้หลีกเลี่ยงรับบริการ และแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน 1426 กรม สบส.ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป