พฤติกรรมการกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่ (Bully) เป็นพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ถูกระทำได้รับความเดือดร้อนทางกายและจิตใจ เกิดการสั่งสมความกลัว ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในตนเอง และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเข้าสังคมตามมา ลักษณะของการถูกบลูลี่นั้น มี 4 ประเภท ดังนี้
1. การใช้กำลัง หรือการทำร้ายร่างกาย
2. การใช้คำพูด
3. การบูลลี่ทางสังคม และ
4. การบูลลี่ทางโลกออนไลน์ (Cyber Bullying)
ปัจจุบันในสังคมไทยพบว่าการบูลลี่เริ่มพบมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานศึกษาหรือโรงเรียน เด็กและเยาวชนจึงตกเป็นเหยื่อ และเป็นผู้ถูกกระทำในที่สุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เผยผลการสำรวจพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2567 จำนวน 11,414 คน ระหว่างวันที่ 12 -30 มิถุนายน 2567 โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำนักอนามัย และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร พบว่า เด็กและเยาวชนถูกบูลลี่ สูงถึงร้อยละ 80 โดยถูกล้อเลียนหน้าตา บุคลิก ชื่อพ่อแม่ ร้อยละ 82.54 รองลงมาคือ ถูกตอกย้ำปมด้อย ด่าทอ ร้อยละ 53.49 และถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 51.41 นอกจากนี้ ยังพบเด็กและเยาวชนไทยถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ด้วยการส่งรูป คลิปวิดีโอ ข้อความที่ทำให้อับอาย ร้อยละ 22.81 ถูกโพสต์ข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 16.97 และถูกข่มขู่ว่าร้าย ร้อยละ 14.91 จากผลสำรวจพบเด็กและเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งส่วนใหญ่ มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
แนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ลูกหลานตกเป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ ครอบครัวหรือคนรอบข้างมีส่วนสำคัญอย่างมาก ควรหันมาใส่ใจ และสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากมีพฤติกรรมหงุดหงิด เกิดความวิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน หรือไม่อยากไปทำงาน มีร่องรอยการถูกทำร้าย เป็นต้น ควรพูดคุยเพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหา รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึก และทัศนคติที่ดีให้ตั้งแต่ยังเด็ก และใช้วิธีการตอบโต้ความรุนแรงนั้นด้วยความ “เฉยชา” และเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งทางกาย และทางใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีชีวิตที่ปลอดภัย และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อไป
แหล่งข้อมูล : กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ