มาทำความรู้จัก Hospitel...
ในช่วงคลัสเตอร์ใหม่ “สถานบันเทิง” ในกรุงเทพมหานคร ได้เกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 อย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้จำนวนเตียงของโรงพยาบาล ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ อีกทั้งสถานการณ์การท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ทำให้หลายโรงแรมได้รับผลกระทบ เช่น ยอดนักท่องเที่ยวเข้าพักลดลง รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ฯลฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมการแพทย์ จึงเกิดแนวคิดในการนำโรงแรมที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงเป็นห้องพักรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 เพื่อเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาลและสร้างรายได้ให้โรงแรมที่ได้รับผลกระทบ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) จึงได้รับมอบหมายให้ร่วมกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม และยังได้ร่วมกับกองแบบแผน กองวิศวกรรมการแพทย์และกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เข้าตรวจและอนุมัติโรงแรม ที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel
หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) รองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 มาจากคำว่า Hospital (โรงพยาบาล) และ Hotel (โรงแรม) Hospitel คือ การปรับเปลี่ยนโรงแรม ที่มีความสะดวกด้านต่างๆ ให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของโรงพยาบาลแม่ข่ายที่รับรักษา โรงพยาบาลจึงส่งตัวมาเข้าพักรักษาที่ Hospitel อาจเป็นผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้วย้ายมา (Step down) โดยระหว่างพักรักษาตัวจะมีแพทย์ประจำ 1 คน และมีพยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 20 เตียง โดยจะทำการวัดไข้ วัดความดัน และวัดค่าออกซิเจนในเลือด เป็นระยะ หากมีอาการหนักขึ้น จึงส่งต่อโรงพยาบาล หากไม่มีอาการหรือหายจากอาการป่วยแล้ว ก็สามารถกลับบ้านได้
เกณฑ์การรับผู้ป่วย
ควรเป็นตามเกณฑ์ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง มีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ≥ 96% ไม่มี/มีโรคร่วมที่ควบคุมได้ และมีอายุไม่เกิน 75 ปี
- ผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง มีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ≥ 94% ไม่มี/มีโรคร่วมที่ควบคุมได้และมีอายุ ไม่เกิน 65 ปี
- ผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ไม่มี/มีอาการเล็กน้อย มีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ไม่มีโรคร่วม และมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการรุนแรงแล้วได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น ภายหลังอยู่โรงพยาบาล 7-10 วันและให้พัก ต่อที่ Hospitel จนครบ 14 วัน
- สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
- มีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ และมียารับประทานมาด้วย
* กรณีที่มีความจำเป็นเรื่องจำนวนเตียง ให้สถานพยาบาลพิจารณาตามดุลพินิจของแพทย์ โดยพิจารณา ตามความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นประเด็นหลัก
การดำเนินการของ Hospitel
- ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อ
- ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การรักษาที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจในระบบของโรงพยาบาล
- ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) (หากทำได้) ถ้าพบความผิดปกติรุนแรง ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
- จัดระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
- ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของทีมแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ
- ให้ผู้ป่วยลงนามในหนังสือแสดงความยินยอม
การขออนุมัติเปลี่ยนโรงแรม ให้เป็น Hospitel
ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบการสามารถสมัครทางออนไลน์ได้ที่ https://forms.gle/ECkc5Zf98NSUZe7D7 ส่วนในเขตต่างจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดย กรม สบส.จะดำเนินการอนุมัติ โดยมีหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาอนุมัติ 5 หมวด ดังนี้
หมวด 1 โครงสร้างอาคาร และวิศวกรรม
ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวก ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องแบ่งพื้นที่ขอบเขตการให้บริการเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน กรณีอาคารที่ที่มีสามชั้นขึ้นไป จะต้องมีลิฟต์อย่างน้อยหนึ่งตัว หรือมีทางลาดเอียง เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ต้องจัดสถานที่และอุปกรณ์อานวย ความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และห้องน้าสาหรับผู้ป่วย มีความปลอดภัย มีความสะดวกและเหมาะสมต่อ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และต้องมีระบบการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายเชื้อต่างๆ
หมวด 2 บุคลากรทางการแพทย์ และ เจ้าหน้าที่สนับสนุน
- พยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 1 คน ต่อเตียงที่รับผู้ป่วย 20 -40 เตียง
- พยาบาลวิชาชีพควบคุมการติดเชื้อประจาหอผู้ป่วย (ICWN) อย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 Hospitel (Consult)
- แพทย์อย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 Hospitel (Consult)
- เภสัชกรอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 Hospitel (Consult)
- นักรังสีเทคนิคอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 Hospitel (Consult) (เพื่อทาการเอกซเรย์ปอด)
- นักจิตวิทยาคลินิกอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 Hospitel (Consult) (เพื่อประเมินความเครียดจากการกักตัวเพื่อการรักษาตัวของผู้ป่วย โดยให้ประเมิน 1 ครั้ง ต่อ 3-4 วันที่กักตัวผู้ป่วย) (Consult)
หมวด 3 วัสดุ อุปกรณ์สานักงาน
ระบบงาน Back office และงานสนับสนุนต่างๆ เช่น งานเวชระเบียน งานสื่อสารประชาสัมพันธ์ งานธุรการอื่น งานโภชนาการ งานสาธารณูปโภค งานช่างและซ่อมบารุง งานยานพาหนะ(ส่งต่อผู้ป่วย) งานจ่ายกลาง งานจัดการขยะติดเชื้อ งานสนับสนุนอื่นๆ
หมวด 4 เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
- เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบ Digital 1 เครื่อง ต่อผู้ป่วย 1 คน
- เครื่องวัดความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด 1 เครื่อง ต่อผู้ป่วย 1 คน หรือ จัดให้เพียงพอตามความเหมาะสม
- เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ (Potable X-ray) 1 เครื่อง หรือ รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ 1 คัน ต่อ 1 Hospitel
- ชุดอุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ในการช่วยฟื้นคืนชีพ ชุดให้ยาผู้ป่วย ตู้เก็บเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม และชุดตรวจร่างกายเบื้องต้น
- ชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (ppe) และอื่นๆ
หมวด 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน
ระบบควบคุมการติดเชื้อทั้งทางอากาศ และระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ชุมชน
สบส.คอลัมน์ “รอบรู้กับกรม สบส.”