ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ (Medical Oxygen Support Center)
ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 กรุงเทพมหานครในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ศบค. กทม.) ของคณะอนุกรรมการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีอธิบดีกรมการแพทย์ และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานร่วม ได้มีมติเห็นชอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดตั้งศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ (Medical Oxygen Support Center) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และประชาสังคม ภายใต้ชื่อภารกิจ “ลมใต้ปีก” จัดส่งออกซิเจนทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่เข้าแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน/ศูนย์พักคอย (Community Isolation) ซึ่งบางรายจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อประคับประคองอาการ ระหว่างรอเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล มีทีมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน พร้อมแนะนำการใช้งานที่ถูกต้อง นอกจากนี้มีการบริหารจัดการคลังอุปกรณ์ การขนส่ง เบิกจ่าย ที่เป็นระบบตลอด 24 ชั่วโมง
ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยงานภาคประชาสังคม ร่วมในพิธีเปิดศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชั้น 8 และอาคารกองวิศวกรรมการแพทย์
ขั้นตอนการดำเนินงานมีการจัดรูปแบบในลักษณะ One Stop Service เริ่มจากภาคประชาสังคมหรือประชาชน ติดต่อร้องขอออกซิเจน จะมีเจ้าหน้าที่ Call Center สายด่วน กรม สบส. 1426 บริการตลอด 24 ชั่วโมง รับเรื่องขอสนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ พร้อมให้การประเมินผู้ป่วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ Call Center จะแจ้งข้อมูลความต้องการไปยังหน่วยจัดเก็บออกซิเจนทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่หน่วยจัดเก็บตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนจัดส่ง จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ไรเดอร์มารับถังออกซิเจน/เครื่องผลิตออกซิเจนให้ผู้ป่วยถึงที่พัก พร้อมแนะนำการใช้งาน เปลี่ยนถังใหม่ หรือเติมก๊าซออกซิเจนให้ตามที่ร้องขอ และมีระบบติดตามเก็บคืนอุปกรณ์จากที่พักผู้ป่วย โดยทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อน เติมก๊าซ ก่อนนำถังมาคืนที่คลังจัดเก็บอุปกรณ์
ช่องทางการติดต่อขอออกซิเจนทางการแพทย์ 3 ช่องทาง คือ 1) Call Center สายด่วน กรม สบส. 1426 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง 2) เว็บไซต์ http://oxygen.hss.moph.go.th และ 3) เครือข่ายจิตอาสา ผ่านแพลตฟอร์ม “จิตอาสา.แคร์” หรือ https://jitasa.care โดยสนับสนุนท่อก๊าซออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ