กรม สบส. เร่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดแก่ อสม. เผยรับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และ4 ไปแล้ว 902,982 คน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มี อสม. ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว จำนวน 750,907 คน และ เข็มที่ 4 แล้วจำนวน 152,075 คน ย้ำ อสม. จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับประชาชน
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า จากนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ให้ อสม.เป็นสื่อกลางและเป็นต้นแบบ เร่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ให้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะคลี่คลายแล้ว แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมา อสม.ได้เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานมาโดยตลอดและอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นแกนนำในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นที่ อสม.ทุกคน จะเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกๆ ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 2 เข็ม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 แก่ประชาชน จากการรายงานเข้ารับวัคซีนของ อสม. พบว่า มี อสม.ที่รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,019,693 คน คิดเป็นร้อยละ 96.41 เข็มที่ 2 จำนวน 1,009,190 คน คิดเป็นร้อยละ 95.36 เข็มที่ 3 จำนวน 750,907 คน คิดเป็นร้อยละ 70.96 และเข็มที่ 4 จำนวน 152,075 คน คิดเป็นร้อยละ 14.37 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ย. 65 จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งขณะนี้ กรม สบส.ได้ขอความร่วมมือให้ประธานชมรม อสม. ระดับหมู่บ้าน/ตำบล ร่วมกับ อสม. ในพื้นที่ ออกสำรวจและรวบรวม รายชื่อ อสม. ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เข็มที่ 3 และ เข็มที่ 4 เพื่อส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ในพื้นที่ ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์
นพ.สุระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอเชิญชวน อสม. ในพื้นที่ ออกเคาะประตูบ้าน โดยใช้กลยุทธ์ “อสม.เคาะประตูบ้าน เชิญชวน อสม. และกลุ่มเป้าหมาย 608 ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น” 5 ขั้นตอนดังนี้ 1. สำรวจ ค้นหา:อสม.และชวนกลุ่มเป้าหมาย 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 และ 4 2.นำพา ส่งต่อ : รวบรวมและส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมาย ให้แก่เจ้าหน้าที่ รพ.สต./สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ 3.วางแผน เตรียมพร้อม: ร่วมวางแผนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อกำหนดวันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4.บอกต่อ แนะนำ : พากลุ่มเป้าหมายไปรับการฉีดวัคซีนที่ รพ.สต./สถานบริการสาธารณสุข ตามวันที่กำหนด และ5. รายงาน ติดตามผล : ควบคุม กำกับ/ติดตาม รายงานผลการปฏิบัติงานผ่าน MOPH-IC