กรม สบส. ร่วมกับ ธปท. จัดประชุมชี้แจงการเก็บแบบสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในเชิงเศรษฐกิจสุขภาพ รองรับนโยบาย Medical Hub ปี 2566
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดประชุมชี้แจงการเก็บแบบสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในเชิงเศรษฐกิจสุขภาพ รองรับนโยบาย Medical Hub ปี 2566 แจงแนวทางการเก็บข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยต่างชาติแก่สถานพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ 89 แห่ง ต่อยอดเป็นฐานข้อมูลกลางในการวางแผนกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐได้วางนโยบายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจนนำไปสู่การขยายมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกรม สบส.เล็งเห็นว่าการยกระดับประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาตินั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลของสถานพยาบาลให้มีความครอบคลุมในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีฐานข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่างชาติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และทันต่อสถานการณ์แล้ว จะมีประโยชน์ต่อการประเมิน วิเคราะห์ วางแผน และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกรม สบส. และ ธปท. ในการพัฒนาฐานข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่างชาติ โดยเก็บข้อมูลการรับบริการฯ ของผู้ป่วยต่างชาติผ่านแบบสำรวจข้อมูลโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เขตพื้นที่ท่องเที่ยว และเขตจังหวัดชายแดนของประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสุขภาพ และจัดทำสถิติดุลการชำระเงินของประเทศ เพื่อให้การตอบแบบสำรวจข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนมีความถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด กรม สบส. จึงได้จัดประชุมชี้แจงการเก็บแบบสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในเชิงเศรษฐกิจสุขภาพรองรับนโยบาย Medical Hub ปี 2566 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากสถานพยาบาลภาคเอกชนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบออนไซต์ และออนไลน์
นายแพทย์สุระ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ Medical Tourism Association ได้ประเมินว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยเดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศประมาณปีละ 14 ล้านคน โดยสาเหตุที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดจากค่ารักษาพยาบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วมีราคาสูง ขณะที่คุณภาพการรักษาในบางประเทศอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้ แต่กลับมีราคาที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัจจัยหลักซึ่งได้รับการยอมรับอยู่มากมาย อาทิ ราคาเหมาะสม การให้บริการมีคุณภาพ และมาตรฐานสากล มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเทคโนโลยีทันสมัย มีการต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม หากมีฐานข้อมูลกลางการให้บริการทางการแพทย์ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการนำข้อมูลที่ได้มาใช้กำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มโรคที่ให้บริการรักษาและผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศไทยสืบไป