กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำร่างประกาศกระทรวงพัฒนากฏหมายงานวิศวกรรมการแพทย์ ระดมความคิดเห็นจากสหวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการและสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติโดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2568) ณ โรงแรมดี วารี จอมเทียนบีช พัทยา จังหวัดชลบุรี นายแพทย์ กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรม สบส. เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำประกาศกระทรวงและรวบรวมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวง ตามโครงการพัฒนากฎหมายงานวิศวกรรมการแพทย์ โดยมีผู้บริหาร และบุคลากรกรม สบส. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เข้าร่วม
นายแพทย์กรกฤชฯ กล่าวว่า งานวิศวกรรมการแพทย์ ถือเป็นงานที่มีความสำคัญในการรักษาพยาบาล การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพ ด้วยงานวิศวกรรมการแพทย์มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ออกแบบ ทดสอบ และรักษาอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งการที่จะควบคุม กำกับ ให้งานวิศสวกรรมการแพทย์เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มาตรฐานนั้น การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมการแพทย์ถือเป็นกลไกสำคัญ สู่การต่อยอดพัฒนางานวิศวกรรมการแพทย์ เพื่อส่งมอบงานบริการสุขภาพและสาธารณสุขที่มีคุณภาพให้กับประชาชนผู้รับบริการ รวมทั้งพัฒนาสถานพยาบาลให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ตามแนวทางที่กฎหมายของประเทศได้กำหนดไว้ ดังนั้น กรม สบส. จึงกำหนดจัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำ (ร่าง) กฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 (มาตรา 5) ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมการแพทย์อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนามาตรฐานของสถานพยาบาลภาครัฐให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ อันจะส่งผลให้ระบบบริการสุขภาพมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน เพียงพอ พร้อมใช้ เชื่อถือได้ ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยเครื่องมือที่ดี มีประสิทธิภาพ ถูกต้องแม่นยำ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายด้วยว่า เมื่อกฎหมายได้มีสภาพบังคับใช้ จะมีบทบัญญัติใดบ้างที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ผ่านการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของระบบบริการสุขภาพของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค อาทิ ผู้บริหารศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ คณะทำงานจัดทำร่างประกาศกระทรวง และผู้แทนจากศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพเขต 1–12