กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 0 2193 7000

“ว่ายน้ำเป็น เห็นภัย รู้วิธีรับมือ” ลดความเสี่ยงเด็กจมน้ำ

5

การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยวัย 5-14 ปี โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2557 – 2566) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 36,503 คน หรือวันละกว่า 10 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 6,693 คน สาเหตุหลักจากการขาดทักษะการเอาชีวิตรอด การช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธี และการเล่นน้ำ โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหานี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น สร้างความตระหนักถึงอันตราย และการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

“ว่ายน้ำเป็น” ทักษะชีวิตที่จำเป็น

เด็กในช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและชอบสำรวจสิ่งใหม่ ๆ แต่ยังขาดทักษะการประเมินความเสี่ยง การว่ายน้ำจึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน โดยการเริ่มสอนว่ายน้ำ ควรให้เด็กเริ่มเรียนว่ายน้ำ ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี ภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญ ฝึกสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำ  ฝึกในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต และมีผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม

“เห็นภัย” ตระหนักถึงความเสี่ยงการจมน้ำของเด็ก

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักจะจมน้ำจากการที่ทรงตัวไม่ดี ทำให้ศีรษะทิ่มลงไปในน้ำได้ง่าย ซึ่งพบว่าเด็ก ในกลุ่มนี้ มักจมน้ำในแหล่งน้ำในบ้าน เช่น ถังน้ำ โอ่งน้ำ หรือกะละมัง
  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เด็กในวัยนี้ เริ่มเดินออกจากบ้านได้ และพบแหล่งน้ำที่อาจเป็นอันตรายใกล้บ้าน เช่น คูน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ โดยผู้ดูแลเองก็อาจไม่ทราบถึงอันตรายจากแหล่งน้ำเหล่านี้

 “รู้วิธีรับมือ” คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง

  • สำรวจแหล่งน้ำภายในบ้านและบริเวณใกล้เคียง เช่น คูน้ำ บ่อน้ำ หรือรางระบายน้ำ เพื่อหาจุดที่เป็นอันตราย
  • จัดการพื้นที่เสี่ยง เช่น ทำรั้วรอบสระน้ำหรือแหล่งน้ำที่อาจเป็นอันตราย ติดป้ายคำเตือน ปักธงสัญลักษณ์แสดงพื้นที่อันตราย และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง
  • ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดขณะเล่นน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง
  • สอนให้เด็กรู้จักการสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งเมื่อเล่นน้ำหรือเดินทางทางน้ำ
  • ให้เด็กยืนรอให้เรือจอดเทียบท่าอย่างปลอดภัยก่อนที่จะขึ้นหรือลงจากเรือ
  • อ่านและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำอย่างเคร่งครัด
  • ให้การช่วยเหลือฉุกเฉินตามหลัก "ตะโกน โยน ยื่น" โดยตะโกนขอความช่วยเหลือให้คนรอบข้างมาช่วย ระบุตำแหน่งเด็กให้ชัดเจน โยนสิ่งของที่สามารถลอยน้ำได้ให้เด็กจับ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอนเปล่า และยื่นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงเด็กขึ้นจากน้ำ เช่น ไม้ยาว เชือก ผ้าหรือเสื้อที่ผูกต่อกัน รีบนำเด็กขึ้นจากน้ำ และโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ทุกชีวิตมีค่า การป้องกันเด็กจมน้ำ จำเป็นต้องอาศัยการสอนทักษะการว่ายน้ำ การสร้างความตระหนักถึงอันตราย และการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน การป้องกันอย่างจริงจังจะช่วยลดความเสี่ยงและการเสียชีวิตจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

แหล่งข้อมูล : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Save
Cookies user preferences
We use cookies to ensure you to get the best experience on our website. If you decline the use of cookies, this website may not function as expected.
ตกลง
ปฏิเสธ
Read more
Functional
Tools used to give you more features when navigating on the website, this can include social sharing.
AddThis
ตกลง
ปฏิเสธ
Analytics
Tools used to analyze the data to measure the effectiveness of a website and to understand how it works.
Google Analytics
ตกลง
ปฏิเสธ